Skip Global Navigation to Main Content
Skip Breadcrumb Navigation
รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทย (กลุ่มที่ 2)
 

ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง สำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเพื่อการบังคับใช้แรงงานและการแสวงประโยชน์ทางเพศ การที่ประเทศไทยค่อนข้างเจริญคือสิ่งดึงดูดแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่อยู่ห่างไกล เช่น รัสเซียและฟิจิ ซึ่งต้องการหนีความยากจน หรือการปราบปรามของรัฐบาลอย่างเช่นในประเทศพม่า การเดินทางเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมายของคนต่างชาติจำนวนมากเปิดโอกาสให้พ่อค้ามนุษย์บังคับ หรือหลอกลวงแรงงานต่างชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเหล่านี้มาใช้แรงงานเยี่ยงทาสหรือแสวงประโยชน์ทางเพศ หลังจากเดินทางเข้าไทย ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่า ถูกนำมาค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประมง โรงงาน เกษตร ก่อสร้าง งานรับใช้ตามบ้าน และขอทาน ผู้หญิงและเด็กจากพม่า กัมพูชา ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม รัสเซีย และอุซเบกิสถานถูกนำมาค้าให้ธุรกิจทางเพศในไทย ชนกลุ่มน้อยเช่นชาวเขาในภาคเหนือซึ่งมีจำนวนมากที่ไม่ได้รับสถานภาพให้พำนักอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายในประเทศ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีรายงานข่าวในช่วงปีว่ามีชาวพม่าถูกนำมาค้าในไทยจากมาเลเซีย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ลี้ภัยรวมอยู่ด้วย คนไทยที่ถูกนำไปค้าเพื่อธุรกิจทางเพศในต่างประเทศและถูกส่งตัวกลับประเทศส่วนใหญ่ถูกนำไปค้าที่ประเทศบาห์เรนและมาเลเซีย ชายไทยบางรายที่ถูกว่าจ้างให้ไปทำงานแบบแรงงานไร้ฝีมือในไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ต้องถูกบังคับใช้แรงงาน หลังจากเดินทางไปถึง ไม่มีตัวเลขที่เชื่อถือได้ว่าในประเทศไทยมีผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์จำนวนเท่าใด การท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศในไทยอาจเป็นตัวส่งเสริมให้มีการค้ามนุษย์เพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศ

รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเต็มที่ในการกำจัดการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ดี รัฐบาลกำลังดำเนินความพยายามที่สำคัญในการแก้ปัญหา รัฐบาลเริ่มนำพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 มามาปฏิบัติ และฝึกอบรมให้ความรู้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ในช่วงหลายปีที่เพิ่งผ่านมา จำนวนผู้ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศได้ลดน้อยลงทุกปี ในช่วงที่ทำรายงานฉบับนี้ มีผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิด 3 ราย และรัฐบาลได้เริ่มดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 54 รายในคดีค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้แรงงานเด็ก อย่างไรก็ดี ไม่มีการตัดสินลงโทษการค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงานในช่วงของการทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลได้เริ่มดำเนินคดีในความผิดหลายข้อหากับเจ้าของโรงงานผลิตอาหารกุ้งสามรายที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นในปี พ.ศ. 2549

ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย:  เพิ่มความพยายามในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่ค้ามนุษย์เพื่อบังคับใช้แรงงาน ปรับปรุงการคัดกรองผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัว สร้างหลักประกันว่าเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นคนต่างชาติและไม่ใช่เด็กซึ่งเต็มใจที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กrฎหมายของไทยจะไม่ถูกนำตัวไปไว้ในสถานพักพิงโดยไม่เต็มใจ จัดทำกลไกที่จะช่วยให้เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติที่ไม่ใช่เด็กมีงานทำนอกสถานพักพิง ให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับสิทธิที่พึงมี และหน้าที่ที่นายจ้างพึงมีต่อแรงงานเหล่านี้ และจัดหาที่ปรึกษาทางกฎหมายให้เหยื่อค้ามนุษย์ และช่องทางในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับพ่อค้ามนุษย์

การดำเนินคดี

รัฐบาลไทยยังดำเนินความพยายามต่อไปในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ซึ่งมีความครบถ้วนสมบูรณ์มีผลบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ครอบคลุมการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ และระบุโทษที่หนักพอสมควรและเป็นโทษหนักเหมือนกับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เช่นการข่มขืน และกำหนดโทษหนักขึ้นอีกเท่าตัวในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการ รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์อย่างน้อย 54 ราย ในจำนวนนี้ มี 8 รายที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาบังคับใช้แรงงานเด็ก ในช่วงของการทำรายงานฉบับนี้ มีผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศถูกตัดสินลงโทษอย่างน้อย 3 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายเป็นผู้หญิงไทยและถูกตัดสินจำคุก 34 ปีและ 50 ปีตามลำดับในข้อหาเป็นนายหน้าซื้อเด็กมาเพื่อค้าประเวณี ส่วนผู้ต้องหาอีกรายหนึ่งเป็นหญิงไทยเช่นกันและถูกตัดสินจำคุก 14 ปี ในข้อหานำผู้หญิงสองคนไปค้าประเวณีที่ประเทศอิตาลีในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับใหม่แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อัยการและนักสังคมสงเคราะห์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ยังคงมีขอบข่ายอำนาจในการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ร่วมกับศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศของสำนักงานอัยการสูงสุด อย่างไรก็ดี การสอบสวนคดีค้ามนุษย์มักประสบปัญหาหรือล่าช้าเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคลากร และผู้สังเกตการณ์รายงานว่าความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการในคดีอาญา (รวมทั้งคดีค้ามนุษย์) ควรมีการปรับปรุง  มีรายงานว่าตำรวจท้องถิ่นคุ้มครองซ่องโสเภณี สถานที่ประกอบธุรกิจทางเพศอื่นๆ และโรงงานอาหารทะเลและโรงงานเถื่อนจากการถูกตำรวจเข้าบุกค้น และบางครั้งก็ช่วยอำนวยความสะดวกแก่การลักลอบนำผู้หญิงเข้ามาในไทยหรือผ่านไทย ถ้าไม่มีข้อกล่าวหาเฉพาะเจาะจงและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับข้าราชการที่ให้ความร่วมมือในการค้ามนุษย์ รัฐบาลก็ไม่รายงานเกี่ยวกับการสอบสวนหรือการดำเนินคดีกับข้าราชการในข้อหาทุจริตที่เกี่ยวโยงกับการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2550 ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ถูกสั่งปรับ และไล่ออกจากราชการในข้อหาลักลอบนำคนต่างด้าวเข้าเมือง รัฐบาลรายงานว่าหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ รัฐบาลเริ่มดำเนินคดีในความผิดหลายข้อหากับเจ้าของโรงงานแปรรูปกุ้ง 3 ราย เจ้าหน้าที่ได้บุกค้นโรงงานแห่งนี้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และพบผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 66 ราย เจ้าหน้าที่ยังเริ่มดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยอีก 6 คนซึ่งถูกจับกุมระหว่างการบุกค้นโรงงานแปรรูปกุ้งอีกแห่งหนึ่งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 แต่การพิพากษาคดียังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มเรือประมง 6 ลำเดินทางกลับถึงท่าเรือไทย และลูกเรือที่มีชีวิตรอดกลับมารายงานว่าลูกเรือ 39 ได้เสียชีวิตลงระหว่างการเดินทาง โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า แม้ว่าลูกเรือที่รอดชีวิตมาจะให้ปากคำว่าลูกเรือ 39 คนดังกล่าวเสียชีวิตจากการขาดอาหารเนื่องจากไต้ก๋งเรือไม่ได้จัดหาอาหารและให้เสรีภาพแก่ลูกเรือ (ลูกเรือเหล่านี้ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในเรือประมงนานกว่า 3 ปี) และศพของคนเหล่านี้ถูกโยนทิ้งทะเลไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถหาตัวไต้ก๋งเรือเพื่อจับกุมในข้อหาโยนศพทิ้งโดยผิดกฎหมาย และรัฐบาลก็เชื่อว่าหลักฐานที่มีอยู่ไม่น่าจะเพียงพอในการพิสูจน์ข้อหาที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 

การคุ้มครอง

รัฐบาลไทยยังคงให้การคุ้มครองอย่างดีต่อชาวต่างชาติและชาวไทยที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในไทย และเหยื่อชาวไทยที่ถูกนำไปค้าในต่างประเทศ รัฐบาลเพิ่มจำนวนสถานพักพิงชั่วคราวสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์อีก 99 แห่งจนมีทั้งหมด 138 แห่ง โดยแต่ละจังหวัดจะมี 1 แห่งเป็นอย่างน้อย รัฐบาลจะส่งเหยื่อค้ามนุษย์ไปพักอาศัยในสถานพักพิงระยะยาวที่มีอยู่ 8 แห่งในภูมิภาคซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ โดยเหยื่อค้ามนุษย์จะได้รับคำปรึกษาด้านจิตวิทยา อาหาร ที่พัก และบริการด้านสุขภาพ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฉบับใหม่ขยายความคุ้มครองถึงเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นชาย และหนึ่งในสถานพักพิงระยะยาวของรัฐบาลถูกสงวนไว้สำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ผู้ใหญ่เพศชายและครอบครัวเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2551 สถานพักพิงของรัฐบาลให้ความคุ้มครองและบริการสังคมสงเคราะห์แก่เหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยที่ถูกส่งตัวกลับประเทศอย่างน้อย 102 รายและเหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติที่ถูกนำมาค้าในไทยอีก 520 ราย กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่าระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 มีคนไทย 443 คนที่ถูกระบุว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ถูกส่งตัวกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งจากบาห์เรน (360 ราย) มาเลเซีย (73 ราย) และไต้หวัน (5 ราย) ส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ถูกนำไปค้าให้ธุรกิจทางเพศในรูปแบบแรงงานขัดหนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินขั้นตอนการคัดกรองเหยื่อค้ามนุษย์ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชน และที่ผ่านมา ได้จัดฝึกอบรมข้าราชการมาแล้วประมาณ 2,500 คน รัฐบาลอ้างว่าได้ทำการคัดกรองคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัว แต่ผู้สังเกตการณ์ที่ทราบข้อมูลยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทำเช่นนั้นอย่างมีระบบ รัฐบาลให้ที่พักพิงและบริการสังคมสงเคราะห์แก่คนไทยและคนต่างชาติที่ถูกระบุว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ทุกรายระหว่างรอการส่งตัวกลับจังหวัดหรือประเทศบ้านเกิด เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ไทย รวมทั้งเหยื่อที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถออกนอกสถานพักพิงได้โดยปราศจากผู้ดูแล และไม่มีทางเลือกทางกฎหมายอื่นๆ นอกเหนือจากการถูกส่งตัวกลับประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือถูกแก้แค้น นอกจากนั้น คนเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกสถานพักพิง เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติบางรายต้องถูกจำกัดเขตอยู่ที่สถานพักพิงนานถึงสองปี รัฐบาลสนับสนุนให้เหยื่อค้ามนุษย์มีส่วนร่วมในการสอบสวนและดำเนินคดีกับการค้ามนุษย์ และมีบางรายที่ทำเช่นนั้น องค์กรเอกชนรายงานว่าได้รับคำร้องทุกข์จากเหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติที่อยู่ในสถานพักพิงว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการส่งตัวกลับประเทศด้วยความรวดเร็วเพียงพอ และคนเหล่านี้รู้สึกถูกกดดันที่ต้องอยู่ในสถานพักพิงต่อไปเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดี อุปสรรคด้านภาษา ความหวาดกลัวที่มีต่อพ่อค้ามนุษย์ ความไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ไทย กระบวนการทางกฎหมายที่ล่าช้า และปัญหาทางการเงินของเหยื่อค้ามนุษย์ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เหยื่อบางรายไม่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินคดีทางอาญาของไทย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ระบุให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ลูกจ้างในกรณีที่ถูกบังคับใช้แรงงาน และรัฐบาลได้สั่งให้จ่ายเงินชดเชยในคดีโรงงานแปรรูปกุ้งคดีหนึ่ง และจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อใช้เป็นค่าทนายฟ้องร้องคดีแพ่งต่อโรงงานแปรรูปกุ้งอีกแห่งหนึ่ง

การป้องกัน

ในช่วงปีที่ทำรายงาน รัฐบาลไทยยังคงให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการป้องกันและการเพิ่มจิตสำนึกของประชาชนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมทั้งจัดเสวนาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการโฆษณาทางโทรทัศน์ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่ามีการบังคับใช้แรงงานจำนวนมากในกลุ่มแรงงานต่างด้าวซึ่งเข้าร่วมในโครงการหางานชั่วคราวของไทย และระบุว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้เนื่องจากกลัวว่าจะถูกลงโทษหรือเนรเทศ ผู้สังเกตการณ์ยังระบุว่ารัฐบาลไม่ได้พยายามแจ้งให้แรงงานต่างด้าวทราบถึงช่องทางในการฟ้องร้องต่อนายจ้างที่แสวงประโยชน์และนายหน้าจัดหางาน ความพยายามของรัฐบาลในการลดความต้องการบริการทางเพศที่ผิดกฎหมายและการท่องเที่ยวเพื่อซื้อบริการทางเพศกับเด็กในประเทศ เห็นได้ชัดจากการดำเนินคดีกับนักท่องเที่ยวที่ซื้อบริการทางเพศกับเด็กประมาณ 20 ราย การบุกค้นและสั่งปิดซ่องโสเภณีเป็นครั้งคราว และการรณรงค์เพิ่มจิตสำนึกในหมู่นักท่องเที่ยว ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันพิธีสารสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2543