Skip Global Navigation to Main Content
Skip Breadcrumb Navigation
รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี พ.ศ. 2552
 

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย
จัดทำโดยสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน
11 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มีประชากรกว่า 66 ล้านคน  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนและทรงใช้พระบารมีของพระองค์อย่างไม่เป็นทางการ  ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ชนะได้คะแนนเสียงข้างมาก  เมื่อคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญบังคับให้นายกรัฐมนตรีสองคนต้องออกจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2551 รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551  เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ประชาชนได้เลือกวุฒิสมาชิกจำนวน 76 คน  การเลือกตั้งของทั้งสองสภาถูกมองโดยทั่วไปว่าเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม แต่กระนั้นก็มีข้อกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่ามีการซื้อเสียง  ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงดำเนินอยู่ทำให้รัฐบาลจำกัดสิทธิบางประการ ตลอดจนให้อำนาจการรักษาความมั่นคงภายในแก่กองทัพ แต่โดยทั่วไป ผู้บริหารที่เป็นพลเรือนยังคงกำกับดูแลฝ่ายรักษาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิผล 

รัฐบาลยังคงเคารพสิทธิมนุษยชนเหมือนปีที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเป็นบางครั้ง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน ซ้อมและทารุณผู้ต้องหา ผู้ต้องขังและนักโทษ โดยหลายคนถูกคุมขังในสภาพที่แออัดและไม่ถูกหลักสุขอนามัย  จากพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้มีการไล่ออก จับกุม ฟ้องคดีอาญาและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงหลายราย  อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาร้ายแรง  การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงมีอย่างกว้างขวางในวงการตำรวจ  การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี ซึ่งรวมถึงการสังหารโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายมาเลย์ อาสาสมัครป้องกันภัยชาวพุทธและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ  รัฐบาลยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการชุมนุมในระดับหนึ่ง  เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้รายงานว่าประสบปัญหาถูกคุกคามและข่มขู่  การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาอยู่  ชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานอย่างถูกต้องยังคงเผชิญปัญหาถูกจำกัดเรื่องการเดินทางโยกย้าย ไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินและไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน  การบังคับใช้กฎหมายแรงงานของภาครัฐไม่มีประสิทธิผล

มีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายนในพัทยาและกรุงเทพมหานครเมื่อการเดินขบวนประท้วงของฝ่ายค้านนำไปสู่การยกเลิกการประชุมสุดยอด ASEAN ที่พัทยาและการจลาจลในกรุงเทพฯ เป็นผลให้มีประชาชนถูกทำร้ายเสียชีวิต 2 รายโดยผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล  รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพัทยาเมื่อวันที่ 11 เมษายน และในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 เมษายน และฝ่ายทหารได้นำกรุงเทพฯ กลับสู่ความสงบเรียบร้อยเมื่อวันที่ 13-14 เมษายน

การเคารพในสิทธิมนุษยชน

หมวดที่ 1 การเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึงการปลอดจาก:

ก. การสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมาย

ไม่มีรายงานยืนยันว่ามีการสังหารที่เกี่ยวพันกับการเมืองโดยรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  แม้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเกินกว่าเหตุเป็นบางครั้งและหลายครั้งได้ใช้กำลังอย่างรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัยคดีอาญาจนถึงแก่ชีวิต รวมถึงการกระทำหรือเกี่ยวข้องกับคดีสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การสังหารตามอำเภอใจและการสังหารที่ผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการสังหารที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระทำในเรื่องส่วนตัวด้วย  หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ตลอดจนศาล ได้ดำเนินการตามกฎหมายในบางคดี อาทิ กรณีตำรวจถูกต้องสงสัยว่ากระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมที่จังหวัดกาฬสินธุ์

สำนักการสอบสวนและนิติการ กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 733 ราย และระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว 24 ราย  ทางการแจ้งว่าส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากโรคภัยตามธรรมชาติ  เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารผู้ต้องสงสัย 50 คนระหว่างการดำเนินการจับกุม

เมื่อถึงสิ้นปี ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดในหน่วยเฉพาะกิจ 39 ถูกแจ้งข้อหาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของทางการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ในกรณีนี้ มีคดีค้างอยู่ในศาล 3 คดี คือ 1) คดีที่ข้าราชการทหารผู้ต้องสงสัยถูกดำเนินคดีทางอาญา  คดีนี้อยู่ภายใต้การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 2) คดีแพ่งที่ครอบครัวของอิหม่ามยะผายื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมซึ่งถูกระงับการพิจารณาชั่วคราวเนื่องจากรอผลการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมาย และ 3) การฟ้องคดีอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ครอบครัวของอิหม่ามยะผายื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม

ไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายนพพร ชัยวิชิตที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ. 2550 และเมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2552 กองบังคับการปราบปรามที่กรุงเทพมหานครยังคงดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้อยู่ 

เมื่อถึงปลายปี ก็ยังไม่มีการฟ้องดำเนินคดีหรือไต่สวนนายปรีชา ปานพายัพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของกระทรวงมหาดไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ยิงนายไอ่ อู กะเหรี่ยงอพยพเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 27 มกราคม ทางการได้ส่งเรื่องนี้ต่อไปยังตำรวจภูธรจังหวัดซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่มิได้พิจารณาดำเนินการประการใด ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนส่งคดีนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาว่าจะไม่ดำเนินคดีกับนายปรีชาในข้อหาฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับสอบสวนคดีที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับโครงการ “สงครามปราบยาเสพติด” ปี พ.ศ. 2546 จำนวน 10 ดดี แม้ว่าการสังหารจะเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2546  กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนคดี 8 จาก 10 คดีนี้ไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ส่งอีกคดีหนึ่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรมฯ ดำเนินการสอบสวนคดีที่เหลือเองต่อไป  กรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นายในจังหวัดกาฬสินธุ์ข้อหาพัวพันในการสังหารนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครองและการซ่อนเร้นคดีฆาตกรรมนี้  เมื่อเดือนสิงหาคม กรมสอบสวนคดีพิเศษสรุปสำนวนส่งอัยการ  และในวันที่ 9 กันยายน อัยการยื่นฟ้องคดีอาญา รวมถึงข้อหาการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กับนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรสามนายที่เกี่ยวข้อง

ในเดือนตุลาคม  เจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือนหลายคนได้ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ในคดีลักพาตัวและฆาตกรรมภรรยาและบุตรชายของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชร ระหว่างการดำเนินคดีการโจรกรรมเครื่องเพชรของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียเมื่อปีพ.ศ. 2537  ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ประหารชีวิตอดีตผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชลอ เกิดเทศ ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว  และศาลฯ ได้มีคำพิพากษายืนจำคุกตลอดชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายและพลเรือนสองคน  สำหรับจำเลยที่เหลือ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งนายและพลเรือนหนึ่งคนเสียชีวิตขณะต้องขังในเรือนจำ  ส่วนพลเรือนอีกสองคนได้รับโทษสถานเบา และศาลตัดสินปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจคนสุดท้ายให้พ้นจากข้อกล่าวหา
 
ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากกับระเบิด 10คนที่จังหวัดบุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว ศรีสะเกษและตราด  รัฐบาลยังคงรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการส่งคณะทำงานเตือนภัยประชาชนเรื่องกับระเบิดไปตามหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ และส่งคณะทำงานให้ความรู้เรื่องกับระเบิดไปตามโรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับความเสี่ยงและการป้องกันการบาดเจ็บอันเนื่องจากกับระเบิด
 
ในช่วงปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์รุนแรงอย่างน้อย 4 ครั้งระหว่างทหารพรานชายแดนไทยและผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าชาวกัมพูชา อาทิเช่น เมื่อวันที่ 11 กันยายน ทหารพรานชายแดนยิงชาวกัมพูชาที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้ในเขตแดนประเทศไทยในจังหวัดสุรินทร์  มีชาวกัมพูชาเสียชีวิตหนึ่งคนและบาดเจ็บหนึ่งคน  เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ทหารพรานชายแดนถูกกล่าวหาว่ายิงหนึ่งในกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้ชาวกัมพูชาจำนวน 7 คนเสียชีวิต ในอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ 

ข. การหายสาบสูญ
 
ไม่มีรายงานว่า มีบุคคลหายไปเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง และไม่มีรายงานยืนยันว่า มีบุคคลหายไปหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้เรียกตัวไปสอบสวน 

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่จังหวัดนราธิวาส ญาติรายงานว่านายอับดุลเลาะห์ อาบูคารีหายสาบสูญหลังจากไปร้านน้ำชาใกล้บ้าน  เขาเป็นพยานปากเอกในคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่มีส่วนพัวพันในคดีนายสมชาย นีละไพจิตร หายสาบสูญ (ดูข้างล่าง)
 
ไม่มีความคืบหน้าในคดีการหายสาบสูญของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ นักธุรกิจของจังหวัดขอนแก่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ที่หายตัวไปหลังจากไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเกี่ยวกับกรณีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย   อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษและกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่

 ครอบครัวของนายอุสมาน อาแวนู ทหารเรือเกณฑ์ประจำการที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่หายตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 พบตัวนายอุสมานเมื่อกลางปีพ.ศ. 2551 โดยความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 
  ไม่มีความคืบหน้าในคดีการลักพาตัวนายอนุกร ไวถนอมศักดิ์ เมื่อปีพ.ศ. 2550 ซึ่งนายอนุกรเป็นผู้ช่วยของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติคนหนึ่ง 

 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ศาลแพ่งประกาศให้นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเป็นทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมเป็นบุคคลสาบสูญตามกฎหมาย หลังจากที่เขาหายตัวไปเป็นเวลา 5 ปี  ในเดือนมกราคม นางอังคณา นีละไพจิตร เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังนายอภิสิทธิ์กดดันให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนคดีต่อไป  หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนมากพอควร ก็ประกาศว่าไม่มีหลักฐานใหม่ใดๆ   ในเดือนมีนาคม กรมสอบสวนคดีพิเศษระบุว่า พันตำรวจตรีเงิน ทองสุข ซึ่งถูกพิพากษาลงโทษเมื่อพ.ศ. 2550 ฐานบังคับขืนใจให้นายสมชายขึ้นรถ ขณะนี้พำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและไม่ได้เสียชีวิตจากดินถล่มที่จังหวัดกาญจนบุรีเมื่อเดือนกันยายนตามที่ได้อ้างไว้ก่อนหน้านี้  เมื่อวันที่ 11 มีนาคม รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวพันในคดีลักพาตัวนายสมชายจะถูกดำเนินคดี  แต่เมื่อถึงปลายปี ก็ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นอีก  การหายตัวไปของนายสมชายเมื่อปี พ.ศ. 2547 ถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการที่เขาเป็นทนายให้แก่ผู้ต้องสงสัยคดีอาญาที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงทรมาน  เมื่อถึงปลายปี คดีนี้อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และนายอับดุลเลาะห์ อาบูคารี หนึ่งในพยานปากเอกหายตัวไปก่อนที่เขาจะสามารถให้ปากคำ

ค. การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือทำลายศักดิ์ศรีอื่นๆ

 รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือทำลายศักดิ์ศรี แต่ไม่มีกฎหมายใดมีบทบัญญัติเฉพาะห้ามการทรมาน และการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายอาญา  องค์กรเอกชนและองค์กรด้านกฎหมายยังคงรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางคนทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเป็นครั้งคราวเพื่อบังคับให้รับสารภาพ  หนังสือพิมพ์ได้รายงานหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ใช้ความรุนแรง  เมื่อถึงปลายปี ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่มีการดำเนินคดีทางอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
 ร้อยตำรวจเอก ณัฏฐ์ ชลนิธิวณิชย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 7 นายจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41 ถูกศาลสองแห่งในกรุงเทพมหานครพิพากษาว่ามีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย กักขังโดยผิดกฎหมาย กรรโชกทรัพย์และรับสินบน  เหยื่อหลายรายถูกซ้อม จี้ด้วยไฟฟ้าและคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกเพื่อบังคับให้รับสารภาพ  บางคนถูกบังคับให้จ่ายสินบนเป็นเงินสดและเครื่องประดับเพื่อให้ลดระดับข้อกล่าวหา  มีบุคลอย่างน้อย 61 คนยื่นเรื่องร้องทุกข์เอาผิดเจ้าหน้าที่เหล่านี้  ในเดือนกรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 ปี และในเดือนธันวาคม พวกเขาถูกพิพากษาจำคุกเพิ่มอีก 5 ปี

 สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงสอบสวนคดีที่ทหารชุดเฉพาะกิจที่ 11 ของจังหวัดยะลาและทหารจากค่ายทหารในจังหวัดปัตตานีถูกกล่าวหาว่าทรมานนายอิสมาแอ เต๊ะและอามีซี มานาก นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  นอกจากนี้ ญาติของเหยื่อทั้งสองยังยื่นฟ้องคดีแพ่งเอาผิดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาเมื่อถึงปลายปี

 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังคงสอบสวนคดีของนายรายู คอคอ ที่ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 39 จับเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 พร้อมกับอิหม่าม ยะผา กาเซ็งและผู้ชายอีกสี่คน  นายรายูอ้างว่าเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ฆ่านายยะผา (ดูหมวด 1.ก)  เขายังอ้างด้วยว่า ตนเองถูกทรมาน  สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งสำนวนคดีไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และญาติของนายรายู ยังได้ยื่นฟ้องเอาความผิดทางแพ่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเมื่อถึงปลายปียังอยู่ในระหว่างพิจารณา
 
สภาพของเรือนจำและสถานกักกัน

 เรือนจำมีสภาพไม่ค่อยดี  เรือนจำและสถานกักกันแออัดมาก  มีผู้ต้องขังในเรือนจำและสถานกักกันประมาณ 200,000 คน แต่สถานที่ออกแบบให้รับรองเพียง 100,000 คน  สถานที่นอนมีไม่เพียงพอ การรักษาพยาบาลก็ไม่ดีพอและในเรือนจำบางแห่งมีโรคติดต่อระบาด  นักโทษที่ป่วยหนักจะได้รับการส่งตัวไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลของรัฐ  

 บางครั้ง เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้การขังเดี่ยวนานไม่เกินหนึ่งเดือนเพื่อลงโทษนักโทษชายที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของเรือนจำเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะยืนยันว่าการขังเดี่ยวโดยเฉลี่ยจะไม่เกินเจ็ดวัน  นอกจากนี้ ยังมีการตีตรวนด้วยเหล็กขนาดใหญ่เพื่อควบคุมนักโทษที่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีหรือนักโทษที่อาจเป็นอันตรายต่อนักโทษคนอื่นๆ
 
 ประมาณร้อยละ 14 ของผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ต้องขังที่รอการพิจารณาคดีซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังแยกจากนักโทษทั่วไป  ผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กมักถูกคุมขังรวมกันในห้องขังของสถานีตำรวจเพื่อรอคำสั่งฟ้อง  มีสถานกักกันแยกต่างหากสำหรับผู้ต้องขังเยาวชนในทุกจังหวัด และมีน้อยมากที่ เยาวชนจะถูกกักขังรวมกับผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว    

 ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ ยังคงมีสภาพไม่ค่อยดี  สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารจัดการศูนย์กักกันคนเข้าเมือง ซึ่งศูนย์ฯ เหล่านี้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่กำกับระบบราชทัณฑ์ตามปกติทั่วไป  รายงานที่เชื่อถือได้กล่าวว่า ผู้คุมของศูนย์กักกันบางแห่งทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง  สภาพแออัดและการขาดบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงอยู่  นอกจากนี้ มีรายงานว่า มีคำร้องทุกข์เกี่ยวกับอาหารไม่พอและไม่เหมาะสมตามวัฒนธรรมโดยเฉพาะจากผู้ต้องขังชาวมุสลิม

 ผู้สังเกตการณ์องค์กรระหว่างประเทศรายงานว่า ศูนย์กักกันซอยสวนพลูในกรุงเทพฯ ยังคงแออัดอยู่  ผู้สังเกตการณ์อ้างว่า ผู้ต้องขังถูกทารุณกรรมในขณะที่ถูกคุมขัง  มีรายงานว่า ในศูนย์กักกันบางแห่ง ผู้ต้องขังซึ่งรวมทั้งเด็กไม่ได้รับอนุญาตให้ออกกำลังกาย   
 
 ไม่มีการจำกัดการเข้าเยี่ยมนักโทษ และรัฐบาลอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอิสระและองค์การกาชาดสากลสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษได้  ผู้แทนองค์การกาชาดสากลได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมนักโทษโดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยและสามารถเข้าเยี่ยมอีกได้หลายครั้ง  อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงปลายปี ฝ่ายทหารยังไม่ได้ตอบคำร้องขอขององค์การกาชาดสากลที่ขอเข้าชมสถานกักกันของทหารในสี่จังหวัดภาคใต้ที่มีการกล่าวหาว่ามีการทารุณผู้ต้องขัง  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันที่สนามบินสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ  ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติสามารถสัมภาษณ์ผู้ต้องขังที่ศูนย์กักกันซอยสวนพลู และประเทศที่สามก็ยังสามารถเข้าเยี่ยมนักโทษได้เพื่อดำเนินการจัดการให้ผู้ต้องขังที่พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัยโยกย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม

ง. การจับกุมหรือการกักกันตามอำเภอใจ

 รัฐธรรมนูญห้ามการจับกุมและกักกันตามอำเภอใจ แต่กระนั้น เจ้าหน้าที่ของทางการบางส่วนยังคงจับกุมและกักกันตามอำเภอใจอยู่เป็นระยะ  กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการควบคุมตัวบุคคลได้นานสูงสุด 7 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหายังมีผลบังคับใช้ใน 31 จังหวัดจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ

 ในช่วงปีที่ผ่านมา สภาทนายความแห่งประเทศไทยได้รับคำร้องทุกข์ 115 ฉบับจากผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงทำการตรวจค้นและจับกุมที่ไม่เหมาะสมโดยอ้างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและแสดงหมายจับภายหลัง  

บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องมือรักษาความมั่นคง

 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหน้าที่ลดภัยคุกคามความมั่นคงภายในประเทศและปราบปรามการก่ออาชญากรรม โดยอยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการตำรวจซึ่งมีสมาชิก 20 คน  ผู้บัญชาการ สตช. ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตำรวจตระเวนชายแดนมีอำนาจและความรับผิดชอบพิเศษบริเวณชายแดน ทั้งนี้เพื่อต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน        

 พระราชบัญญัติความมั่นคงในราชอาณาจักรซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน.  พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางสำหรับฝ่ายทหาร  เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือน  กอ.รมน. มีหน้าที่รักษาความมั่นคงภายในของประเทศเพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบ  รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวในเดือนกรกฎาคมเพื่อการจัดการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต และอีกครั้งหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง เมื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติจัดชุมนุมประท้วง  องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการตำหนิรัฐบาลที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ หลายครั้ง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในการโต้ตอบภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศด้วยการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน  อย่างไรก็ดี การประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ไม่ได้กีดกั้นการชุมนุมของกลุ่มผู้ประท้วง

 ปัญหาการทุจริตในหมู่ข้าราชการตำรวจยังมีอยู่ทั่วไป  เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ โจรกรรมและการกระทำการมิชอบหลายคดี  มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทรมาน ซ้อมและทารุณผู้ต้องขังและนักโทษมักไม่ถูกลงโทษ   มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกจับข้อหาค้ายาเสพติด ถูกรายงานว่ามีส่วนพัวพันกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ 

 ในบางภูมิภาคและสถานการณ์ที่ทหารมีบทบาทด้านการรักษาความมั่นคง ทหารถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาค้ายาเสพติดและค้าอาวุธ  ในเดือนกรกฎาคม กองทัพบกไล่นายทหารชั้นประทวน 38 นายออกจากราชการฐานฉ้อโกงและกรรโชกทรัพย์ เนื่องจากเรียกร้องเงินเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเลื่อนยศและตำแหน่งหน้าที่

  มีรายงานข่าวว่าพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าไปแทรกแซงการสอบสวนการพยายามสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษายน  ในเดือนกรกฎาคม มีหมายจับทหารสองนายและตำรวจหนึ่งนาย  ในเดือนตุลาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สั่งฟ้องพลตำรวจเอกพัชรวาทในข้อหากระทำการโดยมิชอบในการจัดการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคมโดยใช้ความรุนแรง ทำให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ฯ ต้องสั่งย้ายเขา  สำนวนคดีนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และจากนั้น ก็เข้าคณะกรรมการร่วมระหว่าง ปปช. กับ อสส. ในเดือนพฤศจิกายน  เมื่อถึงปลายปี คดีนี้ก็ยังไม่สรุปผล

 ผู้ที่ต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องเรียนโดยตรงต่อผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ถูกกล่าวหา จเรตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และสำนักนายกรัฐมนตรีก็รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการทุจริตของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นเดียวกับสำนักงานผู้ตรวจการของรัฐสภา  เมื่อถึงปลายปี มีคำร้อง 22 รายอยู่ที่สภาทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งขอความช่วยเหลือฟ้องตำรวจในคดีการใช้อำนาจโดยมิชอบ
 
 เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการไต่สวนภายในจะเริ่มการสอบสวนก่อน และอาจสั่งพักราชการเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาเป็นการชั่วคราวระหว่างการสอบสวน  บทลงโทษทางวินัยสำหรับความผิดเหล่านี้มีอยู่หลายระดับและคดีที่เป็นความผิดร้ายแรงจะถูกส่งไปให้ศาลอาญาพิจารณา  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับคำร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 95 เรื่องระหว่างเดือนตุลาคมถึงสิ้นปี    

 ในกระบวนการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตอย่างน่าสงสัย ซึ่งรวมทั้งการเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจควบคุมตัวนั้น มีข้อกำหนดให้อัยการ แพทย์นิติเวช และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นเข้าร่วมการสอบสวนด้วย และโดยส่วนใหญ่ สมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีสิทธิแต่งตั้งทนายเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพด้วย  ทว่า มักไม่ค่อยมีการปฏิบัติตามกระบวนการนี้  ครอบครัวของผู้เสียชีวิตเองก็ไม่ค่อยใช้สิทธิตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานกระทำความผิดทางอาญาในระหว่างการจับกุมได้ 
 
การจับกุมและการกักขัง

 กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้รับหมายจากศาลก่อนเข้าทำการจับกุม ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น  แต่ในทางปฏิบัติ ระบบการออกหมายจับอาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มว่าศาลมักจะอนุมัติออกหมายตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด 

 ตามกฎหมาย บุคคลต้องได้รับแจ้งข้อหาทันทีที่ถูกจับกุมและต้องได้รับอนุญาตให้สามารถแจ้งแก่ผู้ใดผู้หนึ่งถึงการถูกจับกุมได้  กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกคุมขังคดีอาญาติดต่อทนายได้ แต่นักกฎหมายและกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างว่า ตำรวจในท้องที่มักทำการสอบสวนผู้ถูกคุมขังโดยไม่ช่วยให้ผู้ถูกคุมขังติดต่อทนาย  นักกฎหมายที่ทำงานในจังหวัดภาคใต้รายงานว่า ภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทนายความถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบลูกความที่ถูกคุมขัง และมีบุคคลในภาคใต้รายงานว่าถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมสมาชิกครอบครัวที่ถูกคุมขัง  บางครั้ง ผู้ที่ถูกคุมขังชาวต่างชาติถูกกดดันให้ลงชื่อสารภาพ โดยไม่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากนักแปลที่มีความสามารถ  กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดจะจัดหาทนายให้แก่ผู้ถูกคุมขังที่มีฐานะยากจนโดยใช้งบประมาณของรัฐ

 ในกรณีทั่วไป กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อดำเนินการสอบสวนคดีได้เป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม โดยสามารถขออำนาจศาลขยายระยะเวลาควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้เพื่อทำการสอบสวน (นานสูงสุดไม่เกิน 84 วันสำหรับคดีร้ายแรงที่สุด)  ทนายความรายงานว่าตำรวจไม่ค่อยส่งสำนวนต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง  กฎหมายและระเบียบข้อบังคับกำหนดให้ความผิดที่มีระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความรับผิดชอบของศาลแขวง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างออกไป  ในคดีเหล่านี้ ตำรวจต้องส่งสำนวนคดีไปให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องภายใน 72 ชั่วโมงหลังการจับกุม  จากรายงานของสภาทนายความแห่งประเทศไทย การคุมขังผู้ต้องสงสัยคดีอาญาเพื่อรอการพิจารณาคดีนานถึง 60 วันถือเป็นเรื่องปกติ      

 กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาในการขอประกันตัว และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มรายงานว่า มีบ่อยครั้งที่ตำรวจไม่ได้แจ้งให้ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวทราบเกี่ยวกับสิทธิการขอประกันตัว หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้มีการประกันตัวหลังจากผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล  มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดีที่ศาลปฏิเสธให้ประกันตัว เช่น คดีของนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง และนายสุวิชา ท่าค้อ ที่หลังการจับกุม ได้ถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสามเดือนก่อนที่พวกเขาจะรับสารภาพ  เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ตำรวจจับกุมนักเคลื่อนไหว น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (หรือที่รู้จักกันในนาม ดา ตอร์ปิโด) ในข้อหาหมิ่นพระบรม       เดชานุภาพหลังจากปราศรัยบนเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.)  ศาลปฏิเสธให้มีการประกันตัวหลายครั้ง และดารณีถูกควบคุมตัวกว่าหนึ่งปีก่อนที่จะถูกพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 
 
ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจกักกันบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 7 วันโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา   

นิรโทษกรรม

 เมื่อต้นปี ทางการได้ปล่อยตัวนักโทษ 31,149 คนที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาในปีพ.ศ. 2550

จ. การปฏิเสธการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม

  รัฐธรรมนูญกำหนดให้ระบบศาลมีความเป็นอิสระ  แม้โดยทั่วไปจะถือกันว่าฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตและการใช้อิทธิพลจากภายนอก  ตามรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชน การที่คดีดังๆ หลายคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางมิชอบไม่มีความคืบหน้าใดๆ นั้น ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในระบบตุลาการและทำให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน (หรือครอบครัวของเหยื่อ) บางคนไม่สนใจเรียกร้องความยุติธรรม

 ระบบศาลพลเรือนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา  นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ  ตุลาการที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะต้องได้การเห็นชอบจากวุฒิสภาหลังจากที่ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการตุลาการซึ่งประกอบด้วยตุลาการ 10 คนและเจ้าหน้าที่ 3 คนที่ได้รับแต่งตั้งโดยวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี  ตุลาการศาลอื่นๆ เป็นข้าราชการพลเรือนโดยอาชีพ ซึ่งการแต่งตั้งตุลาการเหล่านี้ไม่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา     

  ศาลทหารซึ่งแยกออกมาต่างหาก จะพิจารณาเฉพาะคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการทหาร รวมทั้งคดีที่เกิดขึ้นระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก  ส่วนศาลศาสนาอิสลาม (Shari'a) จะรับพิจารณาเฉพาะคดีแพ่งที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและการรับมรดกของชาวมุสลิมในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูล
 
ขั้นตอนการพิจารณาคดี

  การพิจารณาคดีของศาลไทยไม่ใช้ระบบลูกขุน  การพิจารณาความผิดลหุโทษใช้ผู้พิพากษาคนเดียว  ส่วนคดีความผิดที่ร้ายแรงกว่านั้นต้องใช้ผู้พิพากษาสองคนหรือมากกว่า  รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการพิพากษาคดีทันที อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีที่ค้างอยู่ที่ศาลเป็นจำนวนมาก  แม้ว่าการพิจารณาคดีส่วนใหญ่จะเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาลับได้ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ราชวงศ์ เด็ก หรือการล่วงละเมิดทางเพศ   
 
  องค์กรเอกชนวิจารณ์การพิจารณาคดีลับกรณี น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งมีคำพิพากษาจำคุก 18 ปี  ทนายของเธออุทธรณ์ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการพิจาณาคดีลับนี้  เมื่อเดือนธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธรับคำอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาอาจกลับคำตัดสินพิพากษาคดีของเธอ

 กฎหมายกำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์  จำเลยที่ถูกพิจารณาคดีในศาลอาญาธรรมดาจะได้รับสิทธิตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งรวมทั้งสิทธิในการเลือกทนายด้วยตนเอง  รัฐบาลมีโครงการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่คนยากจนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่รัฐไม่ได้จัดหาทนายอาสาให้แก่จำเลยที่ยากจนโดยอัตโนมัติ  กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงทำหน้าที่จัดหาทนายให้จำเลยทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา แต่ไม่ได้จัดสรรทรัพยากรไว้อย่างเพียงพอ  เมื่อปีที่ผ่านมา งบประมาณของสภาทนายความแห่งประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 25  การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายมักเป็นการช่วยเหลือโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยพิจารณาเป็นราย ๆ  และมีมาตรฐานต่ำ  องค์กรเอกชนบางแห่งรายงานว่าทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกดดันให้ลูกความจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มแก่ทนายโดยตรง  กฎหมายกำหนดให้ศาลต้องแต่งตั้งทนายให้ในกรณีที่จำเลยต่อสู้ข้อกล่าวหา ยากจน หรือเป็นผู้เยาว์ รวมทั้งในกรณีที่บทลงโทษอาจจำคุกเกินกว่า 5 ปี หรือโทษประหารชีวิต  การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มองค์กรเอกชน เช่น สภาทนายความแห่งประเทศไทยและสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย  ไม่มีกระบวนการให้แสดงเอกสารเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจ ดังนั้น ทนายและจำเลยไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานปรักปรำตนได้ก่อนมีการพิจารณาคดี  กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ เพื่อขอการชดใช้สินไหมทดแทนได้ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว         

  องค์กรเอกชนหลายแห่งแสดงความกังวลที่ไม่มีการคุ้มครองพยานที่พอเพียง โดยเฉพาะในคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด  สำนักงานคุ้มครองพยาน กระทรวงยุติธรรม มีทรัพยากรจำกัดและโดยส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่ประสานงาน  ส่วนใหญ่แล้ว ตำรวจเป็นผู้ให้การคุ้มครองพยาน แต่มีหน่วยงานอื่นของรัฐอีกหกหน่วยที่อยู่ในโครงการนี้ด้วย  พยาน ทนายและนักเคลื่อนไหวในคดีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบรายงานว่า การคุ้มครองพยานไม่พอเพียงและพวกเขาถูกข่มขู่จากตำรวจที่ทางการส่งไปให้การคุ้มครอง       

   นักโทษและผู้ต้องขังการเมือง

  ไม่มีรายงานว่ามีนักโทษหรือผู้ต้องขังการเมือง

  กระบวนการพิจารณาความแพ่งและการชดใช้สินไหมทดแทน 

 มีฝ่ายตุลาการที่อิสระและเป็นกลางในการพิจารณาความแพ่ง  กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องต่อศาล หรือหน่วยงานราชการฝ่ายปกครอง เพื่อขอให้มีการชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายอันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม มาตรา 16 และ 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลบังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดชัดเจนว่า ศาลปกครองหรือกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งหรืออาญาไม่อาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เหยื่ออาจร้องขอสินไหมทดแทนความเสียหายจากหน่วยงานรัฐแทนได้   

ฉ.  การล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ

 รัฐธรรมนูญห้ามการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัว บ้านพัก หรือเอกสารโต้ตอบโดยพลการ และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าวในทางปฏิบัติ  อย่างไรก็ตาม กฎอัยการศึกให้ทหารมีอำนาจตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล และมีการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นครั้งคราว  นอกจากนี้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในจังหวัดภาคใต้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาล  สภาทนายความแห่งประเทศไทยได้รับคำร้องเรียนจำนวนมากจากประชาชนในภาคใต้ที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ  อย่างไรก็ดี พระราชกำหนดดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสามารถปฏิบัติงานโดยไม่ต้องถูกลงโทษดำเนินคดี   

 หน่วยงานด้านความมั่นคงยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีแนวความคิดสุดโต่งหรือแนวความคิดที่ขัดแย้งรุนแรง ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศที่มีแนวความคิดลักษณะดังกล่าว

 ปีที่ผ่านมาต่างจากปีพ.ศ. 2551 คือ ไม่มีรายงานว่า ตำรวจในจังหวัดทางภาคเหนือเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมายศาล หรือชาวเขาถูกบังคับขับไล่ หรือถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่นฐาน

ช.  การใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการใช้อำนาจในทางมิชอบอื่นๆ ในการจัดการปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ

  ความขัดแย้งภายในประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ (จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลาและบางพื้นที่ของสงขลา) ยังคงมีอยู่ตลอดปีที่ผ่านมา  ผู้ก่อการวางระเบิดและทำร้ายประชาชนเกือบทุกวันซึ่งเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่เหล่านี้มอบอำนาจให้แก่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนในระดับหนึ่ง ในการจำกัดสิทธิพื้นฐานบางประการ รวมทั้งให้อำนาจการรักษาความมั่นคงภายในประเทศบางประการแก่กองทัพ  นอกจากนี้ พระราชกำหนดฯ ยังให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสามารถปฏิบัติงานโดยการไม่ต้องถูกลงโทษดำเนินคดี  กฎอัยการศึกที่ประกาศเมื่อปีพ.ศ. 2549 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ทหาร     

  การสังหาร

 กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหากองกำลังของรัฐว่ากระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม จับกุมตามอำเภอใจ และทรมานบุคคลที่สงสัยว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน  จากการที่ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายทำการโจมตีอย่างต่อเนื่อง ความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และชาวพุทธเชื้อสายไทยในพื้นที่ รวมทั้งความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จึงยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

  เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นางไลลา เปาะอิแต ดาโอ๊ะ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงของอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ถูกยิงโดยกลุ่มซึ่งคาดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย  เธอเสียชีวิตจากบาดแผลในวันต่อมา  นางไลลา เป็นบุคคลที่ 4 ของครอบครัวที่ถูกสังหารเนื่องจากส่งเสริมวิธีการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างสันติ  สามีของเธอและบุตรคนที่ 2 ถูกสังหารในปีพ.ศ. 2549 และบุตรชายคนโตถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2547

   เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน มือปืนสาดกระสุนเข้าไปในมัสยิดอัลฟูรกอนในจังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คนและบาดเจ็บ 12 คน

 ตำรวจออกหมายจับนายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อดีตทหารพรานที่เป็นญาติกับชาวพุทธที่ถูกสังหารในวันก่อนที่อำเภอใกล้เคียง  ต่อมา ตำรวจออกหมายจับฉบับที่ 2 สำหรับคนขับรถที่ต้องสงสัยว่าขับรถหนี  ต้นสัปดาห์เดียวกัน ผู้ก่อการร้ายสังหารครูชาวพุทธที่กำลังตั้งครรภ์ในอำเภอเดียวกัน
 
 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน มือปืนสองรายยิงพระสงฆ์สองรูปในจังหวัดยะลาในขณะกำลังเดินบิณฑบาต ทำให้พระรูปหนึ่งเสียชีวิต อีกรูปหนึ่งบาดเจ็บสาหัส
 
  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุดตัดสินไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ที่กรือแซะเมื่อปีพ.ศ. 2547 ซึ่งการพิจารณาคดีไต่สวนการตายนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2551

  เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำพิพากษาการพิจารณาคดีไต่สวนการตายของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ 78 คนที่ถูกควบคุมตัวที่ตากใบเมื่อปี พ.ศ. 2547 ศาลพิจารณาเห็นว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่และไม่ต้องรับผิด โดยพิจารณาถึงความคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับตามบทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  
  จากข้อมูลสถิติของศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย  ในช่วงปีที่ผ่านมา ความรุนแรงจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 510 คนและบาดเจ็บ 995 คนในเหตุรุนแรง 935 ครั้ง  นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังรายงานว่า มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 389 คนและบาดเจ็บ 614 คน เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 78 คนและบาดเจ็บ 379 คน และผู้ก่อการเสียชีวิต 43 คนและบาดเจ็บ 1 คน  เช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา กลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนมักมุ่งเป้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการและผู้แทนศาสนา เช่น ครู พระ และข้าราชการอำเภอและเทศบาล รวมทั้งพลเรือนชาวพุทธและมุสลิม 

  อาสาสมัครป้องกันดินแดนที่เป็นพลเรือนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเชื้อสายไทยจากหมู่บ้านต่างๆ ในภาคใต้ ยังคงได้รับการฝึกขั้นพื้นฐานและรับแจกอาวุธจากกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายรักษาความมั่นคง  องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลที่เห็นอาสาสมัครป้องกันดินแดนเหล่านี้และพลเรือนอื่นๆ มีความระแวงชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ และคิดว่า พวกเขาอาจมีส่วนกับการโจมตีมัสยิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน  

  ตำรวจยังคงดำเนินการสืบสวนการโจมตีในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนและบาดเจ็บประมาณ 70 คน  ทางการได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยการโจมตีที่นราธิวาส 13 คน ในจำนวนนี้ มีสองคนถูกจับได้และกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีเมื่อสิ้นปี  ผู้ต้องสงสัยอีกสองคนถูกจับและดำเนินคดีสำหรับการโจมตีในจังหวัดยะลาและถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต  ทางการได้ออกหมายจับ 15 หมายสำหรับการลอบซุ่มโจมตีรถตู้ในจังหวัดยะลาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งทำให้ผู้โดยสารชาวพุทธเสียชีวิตแปดคน  ผู้ต้องสงสัย 5 คนจากจำนวน 15 คนเสียชีวิตระหว่างการปะทะกับเจ้าหน้าที่ในจุดอื่น และสี่คนถูกจับได้

  ยังไม่มีการจับกุมผู้ใดในคดีที่ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ถูกทำร้ายในจังหวัดยะลาเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสามคนและบาดเจ็บ 20 คน  ยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนการสังหารเยาวชนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์สี่คนในจังหวัดยะลาเมื่อเดือนเมษายนพ.ศ. 2550 ซึ่งอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านชาวพุทธถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหาร
  
  ตำรวจระบุตัวบุคคลห้าคนที่ต้องสงสัยพัวพันในคดีสังหารทหารเจ็ดนายในจังหวัดนราธิวาสเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2550 แต่อัยการสั่งยกฟ้อง  ไม่มีการจับกุมผู้ใดอีกสำหรับคดีนี้  ตำรวจยังคงทำการสืบสวนคดีระเบิดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550  ทางการได้ออกหมายจับ 8 ฉบับแต่ไม่มีการจับกุมผู้ใด  ตำรวจได้จับกุมบุคคลสามคนที่ต้องสงสัยว่าพัวพันในคดีระเบิดที่ตลาดอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2550  เมื่อถึงปลายปี บุคคลทั้งสามยังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 

  ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนคดีสังหารนายแวอาแซ มะเด็ง อิหม่ามในจังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนกันยายนพ.ศ. 2550 และคดีสังหารนายอาแซ เด็งซา ซึ่งเป็นอิหม่ามในจังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2550  ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่มีรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสังหารชายชาวมุสลิมที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง   
 
  การทารุณกรรมทางกาย การลงโทษและการทรมาน

  กลุ่มประชาสังคมกล่าวหากองทัพบกว่าทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายบางคนที่ค่ายกักกัน
 
   รัฐบาลยังคงจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายซึ่งบางคนก็ยังเป็นผู้เยาว์ และในบางกรณี ทางการก็คุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้นภายใต้บทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก  องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งเห็นว่าการจับกุมเหล่านี้เป็นการกระทำตามอำเภอใจ เกินกว่าเหตุ และยาวนานโดยไม่จำเป็น  และองค์กรเหล่านี้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพแออัดของสถานกักกัน 

  กฎหมายด้านความมั่นคงสองฉบับประกาศใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ภายใต้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทางการสามารถกักกันบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 7 วันโดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลหรือหน่วยงานของรัฐในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีการบังคับใช้ในพื้นที่เดียวกันนี้ ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทางการในการจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัยได้นานสูงสุด 30 วันโดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา  หลัง 30 วัน ทางการสามารถคุมขังผู้ต้องสงสัยได้ภายใต้กฎหมายอาญาปกติ  การคุมขังเหล่านี้ไม่เหมือนการคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกเพราะต้องมีคำอนุญาตจากศาล แต่องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนร้องเรียนว่าศาลไม่ค่อยใช้อำนาจของศาลในการพิจารณาการคุมขังเหล่านี้  ในบางกรณี ผู้ต้องสงสัยจะถูกคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วันและจากนั้นก็ถูกคุมขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอีก 30 วัน  ในเดือนธันวาคม มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในแทนกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา  ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แถลงว่ามีบุคคล 447 คนถูกจับกุมในช่วงปีที่ผ่านมาภายใต้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าว และในจำนวนนี้มี 12 คนเสียชีวิตระหว่างการเข้าจับกุมหรือการต่อสู้จับกุม  ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า มีบุคคลใดในภาคใต้ถูกคุมขังภายใต้กฎอัยการศึกเพียงอย่างเดียวหรือไม่            

ทหารเด็ก

  ไม่มีรายงานว่า กองทัพของรัฐเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้ารับราชการ  มีรายงานว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกณฑ์เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ปฏิบัติงานโจมตี  องค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้โรงเรียนอิสลามของเอกชนในการปลุกปั่นเยาวชนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ให้หลงเชื่อแนวคิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

  การกระทำมิชอบอื่นๆ ที่เนื่องมาจากความขัดแย้ง
 
  องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า ทหารส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่อำเภอในสี่จังหวัดภาคใต้ ให้เลือกอาสาสมัครของหมู่บ้านมาจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ  แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมการฝึกอบรมเหล่านี้ถูกสอบสวนและเก็บข้อมูลทางชีววิทยา (ลายพิมพ์นิ้วมือ ตัวอย่างดีเอ็นเอ และภาพถ่าย)
 
  กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 ผู้ก่อการร้ายได้เผาโรงเรียนกว่า 283 แห่งในภาคใต้  และกว่า 35 แห่งถูกเผาซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง  ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้ายเผาโรงเรียน 14 แห่งในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส  และมี 2 แห่งที่เคยถูกเผามาก่อน  รัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนทั่วภาคใต้เป็นบางช่วงเนื่องจากมีการโจมตีทำร้ายครู นักเรียน อาคารเรียนและผู้ปกครองนักเรียน  รัฐบาลให้อาวุธแก่พลเรือนชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เพิ่มกำลังป้องกันโรงเรียนและวัดพุทธและจัดให้ทหารคุ้มครองพระสงฆ์และครู  ข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มีครู นักเรียนและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา 152 คนถูกสังหาร และบาดเจ็บอีก 261 คนเนื่องจากเหตุรุนแรงจากการแบ่งแยกดินแดน  ในช่วงปีที่ผ่านมา มีนักเรียนบาดเจ็บ 22 คนและถูกสังหาร 1 คน  มีเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาบาดเจ็บ 18 คนและถูกสังหาร 13 คน   

  เหตุรุนแรงแบ่งแยกดินแดนรวมถึงการโจมตีสถานพยาบาล  ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในจังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 มีอาสาสมัครสาธารณสุขถูกสังหาร 73 คน บาดเจ็บ 49 คน และศูนย์อนามัยชุมชน 24 แห่งถูกวางเพลิงหรือลอบวางระเบิด

  แม้ว่าจะไม่มีสถิติของรัฐ แต่มีรายงานว่ามีชาวพุทธเชื้อสายไทยกว่าร้อยละ 30 หนีออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปอยู่จังหวัดอื่นของประเทศ

หมวดที่ 2 การเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง อันประกอบด้วย

ก. เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน

  รัฐธรรมนูญและกฎหมายระบุให้มีเสรีภาพด้านการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยมีการยกเว้นบางกรณี แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จำกัดสิทธิเหล่านี้

  เสรีภาพด้านการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนถูกจำกัดโดยการแทรกแซงจากรัฐบาลและการใช้บทบัญญัติตามอำนาจภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์เป็นบางครั้ง   รัฐบาลพยายามขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น  สื่อกระจายเสียงโทรทัศน์และวิทยุถูกสอดส่องอย่างใกล้ชิด และมีการกดดันสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงให้ร่วมมือออกข่าวที่สร้างสรรค์และมี “สมดุล” (นำเสนอข่าวของแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน) โดยเฉพาะในช่วงเกิดความวุ่นวายเมื่อเดือนเมษายน  อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผยตลอดปี  สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียง และสื่อทางอินเทอร์เน็ตรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง  ตลอดจนออกอากาศการสัมภาษณ์และคำปราศรัยของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีโทษอยู่

  กฎหมายระบุว่า รัฐบาลอาจจำกัดเสรีภาพด้านการพูดและเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน คุ้มครองสิทธิของบุคคลอื่น ปกป้องศีลธรรมอันดีของประชาชนและป้องกันการลบหลู่พระพุทธศาสนา  กฎหมายอนุญาตให้ตำรวจจำกัดหรือยึดสิ่งพิมพ์และอื่นๆ เนื่องจากก่อให้เกิดความไม่สงบ เป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับคำสั่งจากศาล   

 สื่อต่างประเทศและสื่ออิสระได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้อย่างเสรี โดยมีข้อยกเว้นสำหรับการรายงานเรื่องที่พิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  

 โดยการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถจำกัดสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อแพร่สัญญาณ  พระราชกำหนดฯ ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการ “ห้ามการพิมพ์และเผยแพร่ข่าวและข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อประชาชนหรือทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หรือข่าวและข้อมูลที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูล”  ภายใต้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าว รัฐบาลมีอำนาจตรวจสอบข่าวที่พิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ  รัฐบาลได้ใช้อำนาจดังกล่าวในช่วงเกิดความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน  
 
  บทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญากำหนดว่า การวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นถือเป็นความผิดทางอาญา โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 15 ปี  กฎหมายอนุญาตให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีหลายคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม นายอภิสิทธิ์ ฯ นายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาการบังคับใช้บทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ เนื่องจากเกรงว่าบทบัญญัติดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

  เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ศาลพิพากษาจำคุก น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสามกระทงเป็นเวลา 18 ปี  ข้อกล่าวหานี้มาจากคำปราศรัยของเธอที่กล่าวต่อสาธารณชนในช่วงการชุมชุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ. 2551  เมื่อถึงปลายปี คดีของเธอยังอยู่ที่ศาลอุทธรณ์
 
  คดีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เมื่อปีพ.ศ. 2550 นั้น เมื่อถึงปลายปียังคงรอการพิจารณาอยู่

  คดีของนายโจนาธาน เฮด อดีตหัวหน้าสำนักข่าวบีบีซีประจำกรุงเทพมหานคร ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อปี พ.ศ. 2551 สองคดี เมื่อถึงปลายปี ก็ยังคงรอการพิจารณาอยู่  ข้อกล่าวหานายเฮดมาจากคำพูดของนายเฮดที่กล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในงานสัมมนาสองงานที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย รวมถึงข้ออ้างว่าการรายงานของนายเฮดตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา “สร้างความเสียหายแก่และดูหมิ่นพระเกียรติของราชวงศ์”  นายจักรภพ เพ็ญแข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากการอภิปรายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2550   จักรภพหลบหนีออกจากราชอาณาจักรในเดือนเมษายนหลังจากเรียกร้องให้มีการก่อความไม่สงบโดยใช้อาวุธ  เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ราษฎรคนหนึ่งยื่นฟ้องดำเนินคดีกับสมาชิกคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยโดยกล่าวหาว่า สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรม
เดชานุภาพด้วยการจำหน่ายวิดีโอการอภิปรายของนายจักรภพในงานสัมมนาเมื่อปี พ.ศ. 2550

  เมื่อวันที่ 19 มกราคม ศาลสั่งพิพากษาจำคุก นายแฮรี่ นิโคไลด์ส นักเขียนชาวต่างชาติเป็นเวลาสามปีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากข้อความหมิ่นพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารในหนังสือนวนิยายชื่อ Verisimilitude ของเขาที่พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2548  นายนิโคไลด์สได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์และเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์  

  คดีของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิจารณ์สังคมที่ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรม
เดชานุภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ยังรอการพิจารณา นายสุลักษณ์ได้รับการประกันตัวให้เป็นอิสระและรอการดำเนินการต่อไปจากทางการอยู่

  รัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์  นักการเมือง ครอบครัวบุคคลมีชื่อเสียงและเครือบริษัทสื่อขนาดใหญ่ยังคงถือหุ้นจำนวนมากในธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่สำคัญหลายฉบับ

  หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมสถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานี ซึ่งได้แก่สถานีวิทยุเอเอ็มและเอฟเอ็มที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าเป็นคลื่น ”ปกติ” รวม 524 สถานี   กองทัพและตำรวจยังคงถือกรรมสิทธิ์ในสถานีวิทยุที่เหลืออีก 244 สถานีโดยให้เหตุผลเรื่องความมั่นคง ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของสื่อกระจายเสียงของรัฐได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่  สถานีวิทยุและโทรทัศน์เกือบทุกแห่งให้บริษัทเอกชนเช่า    

  พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดกฎระเบียบว่าด้วยคลื่นวิทยุและโทรทัศน์  กฎหมายฉบับนี้แบ่งใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยใช้คลื่นความถี่เป็นสามประเภทได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะ ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชน และใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ  พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ ในระหว่างที่การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  แม้ว่ารัฐบาลยืนยันว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติภายในเวลารวดเร็ว แต่กระนั้น เมื่อถึงปลายปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าว 

  กฎหมายในอดีตระบุว่า สถานีวิทยุกระจายเสียงต้องต่อใบอนุญาตทุกปี  พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพิ่มระยะเวลาใบอนุญาตเป็นเจ็ดปี  สัญญาณวิทยุต้องถ่ายทอดผ่านเครื่องส่งของรัฐบาล  กฎหมายกำหนดให้สถานีวิทยุทุกแห่งต้องถ่ายทอดรายการข่าวที่รัฐบาลผลิตวันละ 2 ครั้ง ช่วงละ 30 นาที  กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการควบคุมการดำเนินการวิทยุชุมชนมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม   ผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชนได้รับอนุญาตให้มีเวลา 30 วันในการจดทะเบียนขออนุญาตในการทดลองประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลา 300 วันกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า มีผู้ประกอบกิจการสถานีวิทยุชุมชนจำนวนกว่า 4,500 แห่งที่ได้จดทะเบียนระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม และ 24 สิงหาคม  รัฐบาลได้เตือนผู้ประกอบกิจการสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้มาจดทะเบียนกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติภายในกำหนดวันที่ 24 สิงหาคมว่า หากยังดำเนินการต่อไป จะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และจะถูกตั้งข้อหาใช้เครื่องส่งและเครื่องวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต  ไม่มีรายงานว่า รัฐบาลได้ดำเนินการใดๆ กับผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาต

  มีรายงานว่า ผู้สื่อข่าวถูกคุกคาม ข่มขู่ และทำร้ายเนื่องจากการรายงานข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน  สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นถูกกลุ่ม นปช. วิจารณ์อย่างมากโดยกล่าวหาว่า สถานีรายงานข่าวด้านเดียว  และมีรายงานว่า ผู้ประท้วงกลุ่ม นปช. ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในช่วงชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน

  เมื่อวันที่ 13 เมษายน กลุ่ม นปช. พยายามขัดขวางการแพร่ภาพของสถานีท้องถิ่นในสามจังหวัดของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยกล่าวหาว่า สถานีรายงานข่าวอย่างลำเอียงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมของ นปช. ในกรุงเทพมหานคร

  เมื่อถึงสิ้นปี คดีของนายสำเริง คำสนิท  ผู้สื่อข่าวเจ้าของรถยนต์ที่ถูกวางเพลิงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 และคดียิงนายสุรยุทธ ยงชัยยุทธ และนายอธิวัฒน์ ไชยนุรัตน์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2551 ยังคงอยู่ระหว่างการสืบสวน  เชื่อกันว่า ผู้สื่อข่าวทั้งสามคนตกเป็นเป้าหมายการลอบทำร้ายเพราะรายงานข่าวที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

 สื่อสิ่งพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมือง บุคคลมีชื่อดังในสังคม และรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ  โดยทั่วไป ผู้สื่อข่าวมีเสรีในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมและสถาบันของรัฐบาลโดยไม่ต้องเกรงการตอบโต้จากทางการ  อย่างไรก็ตาม สื่อสิ่งพิมพ์มักพิจารณาตรวจสอบรายงานข่าวและบทความของตนก่อนนำเสนอ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ  สื่อแพร่ภาพกระจายเสียงจะถูกตรวจสอบโดยภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม และเห็นได้ชัดเจนว่า สื่อพิจารณาตรวจสอบภาพสัญญาณของตนก่อนนำเสนอ  กระนั้นก็ตาม สื่อแพร่ภาพกระจายเสียงก็ยังคงรายงานการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่

  เมื่อวันที่ 13 เมษายน รัฐบาลใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 เมษายน สั่งให้สถานีถ่ายทอดดาวเทียมไทยคมระงับสัญญาณของสถานี D-Station ซึ่งเป็นสถานีทีวีดาวเทียมเครือข่ายดำเนินการโดยกลุ่มนปช. ไม่กี่วันหลังจากนั้น ตำรวจได้เข้าตรวจค้นสำนักงานสถานี D-Station ในกรุงเทพฯ และยึดอุปกรณ์ออกอากาศได้จำนวนหนึ่ง  สถานี D-Station เริ่มแพร่สัญญาณได้ใหม่ในเดือนพฤษภาคม

  มีรายงานว่า กอ.รมน. ประจำจังหวัดขอร้องให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชนไม่ให้ใช้เครือข่ายของตนเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบและเตือนผู้ประกอบกิจการว่า จะถูกปิดสถานีหากไม่ปฏิบัติตาม  มีรายงานว่า ทางการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 เมษายน สั่งปิดสถานีวิทยุชุมชน 3 แห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นการชั่วคราวหลังจากมีการกล่าวหาว่าสถานีเหล่านี้กระจายเสียงปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล

  สถานีวิทยุชุมชนของมูลนิธิดวงประทีปยังคงปิดอยู่หลังจากที่ทางการเข้าตรวจค้นสำนักงานของสถานีฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยไม่มีหมายค้น  เจ้าหน้าที่สถานีฯ ที่ถูกจับและดำเนินคดีถูกปรับเป็นเงินประมาณ 1,500 บาท

  นายจอม เพชรประดับ ผู้จัดรายการวิทยุ ระงับการออกอากาศรายการของตนทางสถานี อสมท. ซึ่งเป็นของรัฐหนึ่งวันหลังจากถูกรัฐบาลวิจารณ์อย่างหนักที่ออกอากาศบทสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรเมื่อวันที่ 6 กันยายน  นายจอมกล่าวว่าตน ตัดสินใจลาออกหลังจากที่นายสาทิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการสอบสวนข้อความที่ทักษิณกล่าวเกี่ยวกับองคมนตรีในระหว่างการให้สัมภาษณ์

  ความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาโดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทและจำคุกไม่เกิน 2 ปี   ศาลอาญาได้พิพากษาคดีบุคคลในวงการสื่อ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองฐานหมิ่นประมาทและโฆษณาหมิ่นประมาทหลายคดี

  เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ศาลอาญาได้พิพากษาคดีหมิ่นประมาทหลายคดีที่เกิดจากงานสัมมนาแห่งหนึ่ง โดยทักษิณได้ยื่นฟ้องไว้เมื่อปี พ.ศ. 2549 ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ศาลพิจารณาเห็นว่านาย ปราโมทย์ นาครทรรพ และ ขุนทอง ลอเสรีวานิช  นักเขียนคอลัมน์ประจำของผู้จัดการมีเดีย มีความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากตีพิมพ์และเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการสัมมนาครั้งนั้น  ทั้งสองถูกพิพากษาจำคุกหนึ่งปีและปรับ 100,000 บาท  อีกด้านหนึ่ง ศาลได้ยกฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิเคราะห์ข่าวของสถานี  Asia Satellite TV (ASTV) ซึ่งร่วมงานสัมมนานั้นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองคนต่างทำไปด้วยเจตนาดี
 
  เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายชนาพัทธ์ ณ นคร นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเวลา 3 เดือนและภายหลังลดลงเหลือ 2 เดือนฐานกล่าวหมิ่นประมาทนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2550

  เมื่อวันที่ 10 กันยายน ศาลอาญาพิพากษาว่านายสนธิ ลิ้มทองกุลมีความผิดฐานหมิ่นประมาทจากข้อความที่กล่าวถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งในรายการประจำสัปดาห์ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV เมื่อปีพ.ศ. 2550  นายสนธิถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา  เขาได้รับการประกันตัวเป็นอิสระในวันเดียวกัน และแถลงว่า เขาจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้

  คดีหมิ่นประมาทของพิธีกรรายการสนทนาทางโทรทัศน์ยอดนิยมสองรายยังคงอยู่ในระหว่างอุทธรณ์เมื่อถึงปลายปี

  ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกดดันเพื่อระงับการวิจารณ์ผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำอื่นๆ  

  รัฐบาลยังคงห้ามนำเข้าและจำหน่ายหนังสือเรื่อง The King Never Smiles ที่เขียนโดยพอล แฮนด์ลีย์และจัดพิมพ์ในต่างประเทศ  รวมทั้งหนังสือเรื่อง "ค่อนศตวรรษประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนาม" ที่เขียนโดยนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์   รัฐบาลยังคงห้ามการจำหน่ายหนังสือเรื่อง A Coup for the Rich ของนายใจ อึ้งภากรณ์

  ผู้จัดจำหน่าย The Economist ในประเทศตัดสินใจไม่จัดส่งนิตยสารรายสัปดาห์นี้ให้แก่สมาชิก 5 ครั้ง ทำให้ไม่มีการเผยแพร่นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 24 มกราคม, 31 มกราคม, 18 เมษายน, 4 กรกฎาคม และ 19 กันยายนโดยอ้างว่ามีข้อความที่พาดพิงถึงราชวงศ์

  เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต

  โดยทั่วไป บุคคลและกลุ่มบุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นโดยสันติทางอินเทอร์เน็ตรวมถึงการใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์  อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง  รัฐควบคุมการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตบางประการ และมีรายงานว่ารัฐบาลตรวจสอบการเข้าห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ต  มีอินเทอร์เน็ตบริการแก่ประชาชนทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยมีอัตราการใช้บริการประมาณร้อยละ 24
 
  พระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ประเภทใหม่ๆ ได้ระบุขั้นตอนการเข้าค้นและยึดคอมพิวเตอร์และข้อมูลคอมพิวเตอร์ในการสืบสวนคดีอาชญากรรมบางประเภท และให้อำนาจแก่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการร้องขอและบังคับให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์  กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีหมายศาลในการสั่งระงับเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว  การลงประกาศข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการคุกคามความปลอดภัยของประชาชน ก่อให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชน หรือทำให้บุคคลอื่นได้รับความเดือดร้อน จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท  และหากการกระทำใดมีผลให้เกิดการเสียชีวิตของบุคคลจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปีและปรับไม่เกิน 300,000 บาท  กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลผู้ใช้ทุกคนเป็นเวลา 90 วันในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทางการต้องการข้อมูลเหล่านั้น  นอกจากนี้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใดเห็นด้วยหรือตั้งใจสนับสนุนการตีพิมพ์ข้อความผิดกฎหมายก็จะมีความผิดด้วย  นักเคลื่อนไหวด้านสื่อวิจารณ์กฎหมายฉบับนี้โดยกล่าวว่า คำจำกัดความของการกระทำผิดที่ระบุไว้กินความกว้างเกินไปและบทลงโทษก็รุนแรงเกินไป   

  มีการตรวจสอบข้อความก่อนนำเสนอทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อขัดขวางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  รัฐบาลเฝ้าคุมและสั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์จำนวนมากที่สนับสนุนทักษิณและคตินิยมแบบสาธารณรัฐรวมถึงเว็บไซต์ที่วิจารณ์ราชวงศ์ด้วย โดยเฉพาะในช่วงเกิดเหตุวุ่นวายทางการเมืองในเดือนเมษายนและในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนธันวาคม  อย่างไรก็ดี แต่เมื่อถึงปลายปี รัฐบาลก็ยกเลิกการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวเกือบทั้งหมด  รัฐบาลให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์และกระดานสนทนาทางการเมืองมากพอควร ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวกับราชวงศ์และความมั่นคงของประเทศ  กระดานสนทนาบนเว็บไซต์และเวทีอภิปรายทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเลือกที่จะตรวจสอบข้อความของตนก่อนนำเสนอและคอยตรวจสอบการสนทนาอย่างใกล้ชิดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสั่งปิดกั้น

  เมื่อวันที่ 5 มกราคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศว่า กระทรวงฯ ได้สั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ 2,300 เว็บไซต์เนื่องจากมีเนื้อหาวิจารณ์ราชวงศ์  เมื่อถึงเดือนกันยายน กระทรวงฯ ประกาศว่า กระทรวงฯ ได้สั่งปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์เกือบ 9,000 เว็บไซต์ โดย 6,218 เว็บไซต์ถูกปิดกั้นเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ 2,307 เว็บไซต์ถูกปิดกั้นเนื่องจากมีเนื้อหาลามกและอีก 430 เว็บไซต์ถูกปิดกั้นเพราะเกี่ยวข้องกับการพนัน  นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศว่า กระทรวงฯ ได้จัดสรรงบประมาณ 80,000,000 บาทเพื่อสนับสนุนการเฝ้าสังเกตเว็บไซต์เพิ่มขึ้น  สื่อรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแถลงต่อรัฐสภาว่ากระทรวงฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการหลายคณะเพื่อเฝ้าสังเกตและตรวจสอบเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาวิจารณ์ราชวงศ์  นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้จัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนเพื่อรับคำแนะนำและคำร้องเรียนจากสาธารณชนเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย

  เมื่อวันที่ 26 มกราคม หญิงสาวคนหนึ่งถูกจับกุมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์หลังจากที่เธอนำข้อความแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่นซึ่งวิจารณ์ราชวงศ์ขึ้นบล็อกส่วนตัวของเธอและบนเว็บไซต์ Prachathai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่ได้รับความนิยม  เมื่อวันที่ 6 มีนาคม จีรนุช เปรมชัยพร กรรมการบริหารเว็บไซต์ Prachathai.com ถูกจับและตั้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เนื่องจากปล่อยให้ข้อความแสดงความคิดเห็นซึ่งวิจารณ์ราชวงศ์ขึ้นเว็บไซต์  เมื่อถึงปลายปี ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวเป็นอิสระและรอการพิจารณาจากอัยการว่าจะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่

  เมื่อวันที่ 3 เมษายน สุวิชา ท่าค้อ ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์  เขาถูกจับกุมในเดือนมกราคมหลังจากที่ตำรวจตามรอยภาพถ่ายที่เห็นว่าหมิ่นราชวงศ์ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ที่บ้านของเขา  สื่อรายงานว่า เดิมเขาถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีแต่ได้รับการลดโทษเหลือ 10 ปี หลังจากที่เขารับสารภาพ
   
  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาศัยอำนาจตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 เมษายนสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นเว็บไซต์ที่สนับสนุนทักษิณกว่า 60 เว็บไซต์ที่กระทรวงฯ กล่าวหาว่ามีเนื้อความที่อาจปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล  คำสั่งนี้ได้รับการเพิกถอนเมื่อวันที่ 24 เมษายนหลังจากประกาศเลิกใช้พระราชกำหนดฯ ดังกล่าว และ มีรายงานว่า หลังจากนั้นมานาน ก็สามารถเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นได้ทุกเว็บไซต์

  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ตำรวจจับกุม ธีระนันท์ วิปูชนินท์ และ คฑา ปาจริยพงษ์ ในข้อกล่าวหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  อีกสองรายคือ สมเจต อิทธิวรกุล และ ทัศพร รัตนวงศา ถูกจับเมื่อวันที่ 3 และ 18 พฤศจิกายนตามลำดับในข้อกล่าวหาว่าเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศเนื่องจากนำข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นเว็บไซต์หลายแห่ง  ทั้งสี่คนได้รับการประกันตัวเป็นอิสระ และเมื่อถึงปลายปี ยังรอผลการสอบสวนจากทางตำรวจ

เสรีภาพทางวิชาการและการแสดงทางวัฒนธรรม

รัฐบาลไม่ได้จำกัดเสรีภาพทางวิชาการ

   การแสดงทางวัฒนธรรมอาจถูกสั่งห้ามได้ โดยทั่วไป เพราะเหตุผลเกี่ยวกับความเหมาะสมทางด้านสังคม  ภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 รัฐมีอำนาจสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ที่ “หมิ่นราชวงศ์ กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ บ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของประเทศ เหยียดหยามลัทธิความเชื่อ ดูหมิ่นบุคคลที่ทรงเกียรติ ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม หรือมีฉากการแสดงออกทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง”  มาตรา 25 ของพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์

  กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์ถูกสั่งห้ามฉาย 17 เรื่อง รวมถึงเรื่อง Frontiere, Halloween และ Funny Games  มีรายงานว่ากระทรวงฯ สั่งห้ามฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง This Area Under Quarantine ในงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ เนื่องจากมีเนื้อหาทางเพศและฉากเปลือยอย่างโจ่งแจ้ง  เจ้าของโรงภาพยนตร์และผู้แพร่ภาพกระจายเสียงมักจะตรวจพิจารณาตัดต่อภาพยนตร์ของตนก่อนส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ  มีการนำระบบจัดภาพยนตร์ออกเป็น 7 ประเภทมาใช้ในเดือนสิงหาคมเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์  นอกจากนี้ โรงภาพยนตร์ยังต้องขอใบอนุญาตดำเนินการภายในเดือนกันยายน ไม่เช่นนั้น จะถูกปรับเป็นเงินสูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาท  เมื่อถึงปลายปี ไม่มีรายงานว่า ทางการดำเนินกำหนดการปรับหรือตั้งข้อจำกัดอื่นใดอีก
 
 ข.  เสรีภาพในการชุมนุมกันอย่างสงบและการจัดตั้งสมาคม
 
เสรีภาพในการชุมนุม

 
  รัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และโดยทั่วไป รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าวยกเว้นในบางกรณี  กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจแก่ทหารในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมมีผลบังคับใช้ใน 31 จังหวัด  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งประกาศใช้ในจังหวัดภาคใต้ให้อำนาจรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม แต่ไม่มีการใช้อำนาจดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา

  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และพังงา ออกบทบัญญัติห้ามแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะผู้ที่มาจากกัมพูชา พม่าและลาว ทำการชุมนุม นอกเหนือจากข้อจำกัดอื่นๆ  ในขณะที่จังหวัดสมุทรสาครห้ามการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป  แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎนี้อย่างเข้มงวด  นายจ้างและองค์กรเอกชนอาจขออนุญาตจากทางการให้แรงงานต่างด้าวจัดงานชุมนุมทางวัฒนธรรมได้ และถ้าการชุมนุมจัดขึ้นในสถานที่ส่วนบุคคล ก็มักจะไม่จำเป็นต้องทำการขออนุญาต 
 
  เครือข่าย นปช. จัดชุมนุมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นๆ ตลอดทั้งปี  มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายพันคนและมีจำนวนสูงสุดในกรุงเทพมหานครและพัทยาเมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน  การชุมนุมประท้วงเริ่มเมื่อปลายเดือนมีนาคมด้วยการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและเหตุการณ์เริ่มรุนแรงในวันที่ 7 เมษายนเมื่อผู้ชุมนุมประท้วงโจมตีขบวนรถของนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีที่เมืองพัทยา  ในวันที่ 7 เมษายน หลังจากผู้ชุมนุมประท้วงบุกเข้าไปในสถานที่จัดการประชุมผู้นำอาเซียน รัฐบาลได้สั่งยกเลิกการประชุมและทำการอพยพผู้นำต่างชาติโดยทางเฮลิคอปเตอร์  รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพัทยาเมื่อวันที่ 11 เมษายนและในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 12 เมษายน

  ในวันที่ 12 เมษายน ผู้ชุมนุมประท้วง นปช. บุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทยซึ่งนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีกำลังประชุมอยู่ และผู้ชุมนุมประท้วงได้โจมตีขบวนรถของนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีอีกครั้งในขณะที่ขบวนรถของนายกรัฐมนตรีพยายามออกจากบริเวณกระทรวงฯ  ในวันที่ 13 เมษายน มีการต่อสู้เกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมประท้วง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 135 ราย ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข  ในจำนวนนี้ มีทหารสี่นายถูกยิงบาดเจ็บ ส่วนรายอื่นๆ บาดเจ็บเนื่องจากสูดดมแก๊สน้ำตา กระดูกหักและโดนสะเก็ดระเบิด  มีคนในชุมชนแห่งหนึ่ง 2 รายถูกสังหารเสียชีวิตเมื่อกลุ่ม นปช. เข้าโจมตี  ในวันที่ 14 เมษายน ทหารหลายร้อยนายล้อมที่มั่นของกลุ่ม นปช. ที่ทำเนียบรัฐบาล และผู้นำการประท้วงสั่งยุติการชุมนุมและขอให้สมาชิก นปช. สลายตัว

  เสรีภาพในการจัดตั้งสมาคม

 รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมแม้จะมีข้อยกเว้นเพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ รักษาความสงบเรียบร้อยหรือปกป้องศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ”  
 
 กฎหมายห้ามการจดทะเบียนพรรคการเมืองในชื่อเดียวกันหรือใช้สัญลักษณ์เดียวกันกับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ  ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 กลับมาลงทะเบียนใหม่อีกครั้ง  

ค.  เสรีภาพในการนับถือศาสนา

  รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และโดยทั่วไปในทางปฏิบัติ รัฐบาลก็เคารพสิทธิดังกล่าว  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้จำกัดกิจกรรมของกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม  รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา หากศาสนานั้นๆ ไม่ขัดต่อ “หน้าที่พลเมือง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงาม” ของประชาชน

  รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะ แต่ไม่มีการกำหนดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  องค์กรพุทธบางแห่งเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ประสบผล  รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาล "อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาและศาสนาอื่น"  รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนกิจกรรมของกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุด 3 กลุ่ม คือ พุทธศาสนา มุสลิม และคริสต์

  พระราชบัญญัติองค์กรศาสนากำหนดว่า กรมการศาสนาจะให้การยอมรับการลงทะเบียนศาสนาใหม่ถ้าสำมะโนประชากรแห่งชาติบ่งชี้ว่ามีผู้นับถือศาสนาดังกล่าว 5,000 คนเป็นอย่างน้อย  มีหลักการศาสนาที่มีลักษณะเฉพาะอย่างเห็นได้ชัด และไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง  นอกจากนี้ องค์กรศาสนานั้นๆ จะต้องได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ทางการให้การยอมรับ 5 กลุ่มคือ กลุ่มพุทธศาสนา กลุ่มมุสลิม กลุ่มคริสต์ (ซึ่งรวมกลุ่มคาทอลิกและกลุ่มย่อยของโปรเตสแตนท์อีก 4 กลุ่ม) กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู และกลุ่มซิกห์  นับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา รัฐบาลยังไม่ได้ให้การยอมรับกลุ่มศาสนาใหม่ใดๆ  การจดทะเบียนขององค์กรศาสนากับทางรัฐทำให้ได้สิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น สิทธิในการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ การยกเว้นภาษี และการพิจารณาออกวีซ่าพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่องค์กร  องค์กรศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สามารถดำเนินกิจกรรมของตนได้อย่างเสรี 

  พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2505 ห้ามการหมิ่นประมาทหรือว่าร้ายศาสนาพุทธและพระสงฆ์  ประมวลกฎหมายอาญายังห้ามการดูหมิ่นหรือสร้างความวุ่นวายในสถานที่หรือพิธีทางศาสนาของทุกศาสนาที่ได้รับการยอมรับในประเทศ  สมาชิกของกลุ่มสันติอโศกในศาสนาพุทธไม่สามารถอ้างตนว่าเป็นชาวพุทธได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากขัดแย้งกับมหาเถรสมาคมด้านหลักการศาสนา แต่ก็สามารถดำเนินกิจกรรมตามความเชื่อของตนได้อย่างเสรี

  ทางการกำหนดให้มีการสอนศาสนาในโรงเรียนรัฐบาลทั้งในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการได้วางหลักสูตรที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาทุกศาสนาที่ได้รับการยอมรับในประเทศ

  ในอดีต โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือ “ปอเนาะ” ไม่ต้องจดทะเบียนกับรัฐบาล และไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐและไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ  นับแต่เริ่มเกิดเหตุความรุนแรงทางภาคใต้เมื่อพ.ศ. 2547 รัฐบาลกำหนดให้โรงเรียนเหล่านี้ต้องจดทะเบียนกับรัฐ  เมื่อถึงปลายปี รัฐบาลได้จดทะเบียนโรงเรียน “ปอเนาะ” 401 แห่งในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส และอีก 8 แห่งในจังหวัดอื่นๆ  ผู้สังเกตการณ์ประมาณว่า มีโรงเรียน “ปอเนาะ” ดำเนินการในภาคใต้ราว 1,000 แห่ง 
 
  มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังจับตาดูสมาชิกกลุ่มฟาหลุนกง  กลุ่มฟาหลุนกงร้องทุกข์ว่าเจ้าหน้าที่รัฐพยายามจำกัดกิจกรรมของกลุ่มเนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน  เมื่อวันที่ 9 เมษายน เจ้าหน้าที่จับกุมสมาชิกกลุ่มฟาหลุนกง 3 คน ซึ่งเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเข้าเมืองหลังจากเข้าค้นบ้านพักพวกเขาในพัทยาหนึ่งวันก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่นั่น  ผู้ถูกควบคุมตัวถูกส่งมายังศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 เมษายน  เมื่อถึงปลายปี สองคนในกลุ่มสามคนนี้ยังคงถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักกันและคนที่ 3 ได้โยกย้ายถิ่นไปอยู่ประเทศที่ 3  ยังมีสมาชิกกลุ่มฟาหลุนกงจากประเทศจีนอย่างน้อยอีกหนึ่งคนที่ถูกจับกุมเมื่อปี พ.ศ. 2551 และยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ 
 
  ตำรวจเฝ้าสังเกตการชุมนุมอย่างสงบของกลุ่มฟาหลุนกงเมื่อเดือนกรกฎาคมและการออกร้านในงานเทศกาลทางการแพทย์สองงานในช่วงฤดูร้อนแต่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกิจกรรมของกลุ่ม

   การกระทำทารุณและการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มใหญ่

  ความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ต้องสงสัยแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลาและยะลามีผลให้ชาวพุทธเชื้อสายไทยบางคนในภูมิภาค ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจตามประเพณีได้อย่างเต็มที่  พระสงฆ์และวัดพุทธตกเป็นเป้าการโจมตี  มีพระจำนวนหนึ่งรายงานว่า ไม่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระในชุมชนภาคใต้  นอกจากนี้ พระอ้างว่า ฆราวาสบางครั้งก็ปฏิเสธไม่ช่วยเหลือพระสงฆ์ในกิจประจำวันเนื่องจากกลัวตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ  หลังจากที่พระสงฆ์สองรูปในจังหวัดยะลาถูกยิงเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน มหาเถรสมาคมสั่งให้พระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หยุดการออกบิณฑบาตตอนเช้าเนื่องจากเกรงว่าไม่ปลอดภัย และพระสงฆ์ประมาณ 1,000 รูปในพื้นที่ดังกล่าวได้รับปัจจัยครองชีพเป็นการชั่วคราว

   เนื่องจากการโจมตีที่ต่อเนื่อง ความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์และชาวพุทธเชื้อสายไทยในพื้นที่ภาคใต้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  อย่างไรก็ดี ไม่มีความรุนแรงในชุมชนระหว่างหมู่คนชาวพุทธและมุสลิมใดๆ เกิดขึ้น  ชาวมุสลิมหลายคนร้องทุกข์ว่าถูกเลือกปฏิบัติทางสังคมทั้งจากชาวพุทธและรัฐบาลกลาง  นอกจากนี้ มีชาวมุสลิมหลายคนร้องทุกข์ว่าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเสนอภาพที่ไม่ดีของชาวมุสลิมและชุมชนมุสลิมโดยแสดงให้เห็นว่าชาวมุสลิมมีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย   

  กลุ่มก่อความรุนแรงในภาคใต้กระจายการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านชาวพุทธด้วยใบปลิวและแผ่นพับที่มีข้อความข่มขู่  มีการกล่าวหาว่าครูโรงเรียนศาสนาบางคนในภาคใต้สอนให้นักเรียนเกลียดชาวพุทธและชาวมุสลิมที่ร่วมมือกับรัฐบาลและฝ่ายรักษาความมั่นคง

  องค์กรเอกชนในประเทศรายงานว่า ชาวมุสลิมซึ่งคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 5-10 ของประชาชนทั่วประเทศและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสี่ในห้าจังหวัดทางใต้สุดของประเทศยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง  รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยปฏิบัติตามนโยบายเดิมที่มีมาช้านาน คือพยายามดึงชุมชนมุสลิมเข้ามาสู่สังคมไทยด้วยการพัฒนาและขยายโอกาสทางการศึกษา  อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวมักถูกต่อต้านท่ามกลางคำกล่าวหาว่าพวกเขาถูกบังคับให้กลมกลืนกับสังคมส่วนใหญ่   

  ชุมชนชาวยิวมีขนาดเล็ก และไม่มีรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิว
 
ท่านที่ประสงค์จะทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูได้จาก รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติประจำปี พ.ศ. 2552 ที่ www.state.gov/g/drl/rls/irf/  

ง.  เสรีภาพในการเดินทาง บุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้สัญชาติ

  รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพประชาชนในการเดินทางภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศ และการโยกย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ  โดยทั่วไป ในทางปฏิบัติ รัฐบาลก็เคารพในสิทธิดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีเพื่อ “การรักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสวัสดิการสาธารณะ การวางผังเมืองและการวางผังประเทศ หรือสวัสดิภาพของเยาวชน” โดยทั่วไป รัฐบาลให้ความร่วมมือกับองค์กรด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลพลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงที่พักพิง บุคคลไร้สัญชาติและบุคคลที่น่าห่วงใยอื่นๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ

  ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยได้รับบัตรประจำตัวซึ่งสะท้อนถึงการถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง  ผู้ถือบัตรเหล่านี้มักถูกห้ามเดินทางออกนอกอำเภอที่อาศัยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอก่อนและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหากจะเดินทางออกนอกจังหวัด  ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับและต้องโทษจำคุก  ส่วนชาวเขาที่ไม่มีบัตรไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย  องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตำรวจตามจุดตรวจในประเทศมักเรียกเงินสินบนเป็นการตอบแทนกับการอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติเดินทางจากอำเภอหนึ่งไปยังอีกอำเภอหนึ่ง

  โดยทั่วไป ผู้ลี้ภัยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางภายในประเทศ แต่ก็มีการอนุญาตให้เดินทางด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมบ่อยครั้ง  หากผู้ลี้ภัยถูกพบนอกเขตค่ายพักอย่างเป็นทางการของตน ผู้ลี้ภัยจะถูกปรับ ควบคุมตัวและส่งกลับประเทศ

 บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เช่น ชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคนต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือกองทัพถ้าต้องการเดินทางภายในประเทศหรือไปต่างประเทศ

กฎหมายห้ามการบังคับลี้ภัย และรัฐบาลก็มิได้ทำเช่นนั้น 

  การคุ้มครองผู้ลี้ภัย

  ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 หรือพิธีสาร พ.ศ. 2510 ของอนุสัญญาดังกล่าว  กฎหมายไทยไม่ได้ระบุว่าจะต้องให้ที่พักพิงหรือสถานภาพผู้ลี้ภัยแก่บุคคล  อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐยังคงให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากอย่างที่เคยปฏิบัติมาเป็นเวลานานแล้ว  ในทางปฏิบัติ รัฐให้ความคุ้มครองในระดับหนึ่งแก่ผู้ลี้ภัยโดยไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศหากชีวิตหรือเสรีภาพของคนเหล่านี้จะถูกคุกคามอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สถานภาพการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมหรือทัศนคติทางการเมือง

  ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในหลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นที่กักกันผู้แสวงหาที่พักพิงซึ่งอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยที่ทางการจัดให้  ตามกฎหมายแล้ว บุคคลเหล่านี้ถือเป็นผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมาย  สภาพความเป็นอยู่ภายในศูนย์หลายแห่งไม่ดี และผู้พำนักอยู่ที่ศูนย์ประสบปัญหาสุขภาพกายและใจ โดยสาเหตุมักมาจากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและการระบายอากาศไม่ดี  ผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศได้  ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่พักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ทางการจัดให้ถูกห้ามทำงานหรือหาเลี้ยงชีพนอกค่ายพัก แต่รัฐบาลได้อนุมัติขยายโครงการนำร่องที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจำนวนไม่มากทำงานนอกค่ายพักโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกอาชีพ
 
  รัฐบาลยังคงให้โอกาสผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ แต่ในเฉพาะบางภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น  เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม รัฐบาลอนุมัติแผนเปิดการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ให้แก่คนงานต่างถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน  กระบวนการขึ้นทะเบียนนี้ครอบคลุมผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมายจากลาว กัมพูชาและพม่าที่เดินทางมาประเทศไทยหลังปีพ.ศ. 2547และรับจ้างอยู่ในภาคเศรษฐกิจห้าภาคต่อไปนี้ คือ การประมง งานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการประมง การก่อสร้าง การทำไร่นาและปศุสัตว์ และงานบ้าน  ต้องทำการต่ออายุการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานทุกปี  คนงานต่างถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่ทำงานในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวต้องยื่นขอบัตรประจำตัว (ซึ่งจะมีค่าเท่ากับใบอนุญาตทำงาน) และดำเนินการตามขั้นตอนการพิสูจน์ยืนยันความเป็นพลเมือง  เมื่อถึงสิ้นปี รัฐบาลประกาศขยายกำหนดการพิสูจน์ยืนยันความเป็นพลเมืองจากเดิมคือเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ออกไปอีกสองปี  ผู้ย้ายถิ่นจากลาว กัมพูชาและพม่าสามารถดำเนินการพิสูจน์ยืนยันความเป็นพลเมืองได้ที่สำนักงานทั่วประเทศ  ผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าต้องเดินทางไปยังศูนย์ดำเนินการที่อยู่ตามชายแดนไทย-พม่า ตามการยืนยันของรัฐบาลพม่าว่า การขึ้นทะเบียนจะต้องทำในเขตแดนพม่า  ผู้สังเกตการณ์ภาคประชาสังคมวิจารณ์ขั้นตอนนี้ เนื่องจากทำให้คนงานต่างถิ่นมีโอกาสจะถูกแสวงหาประโยชน์มากขึ้น

  เมื่อวันที่ 16 กันยายน  องค์กรหลักด้านสิทธิผู้ใช้แรงงานและองค์กรด้านแรงงานสามแห่งยื่นคำร้องเรียนต่อผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่น เรียกร้องให้มีการสอบสวนกระบวนการพิสูจน์ยืนยันสัญชาติสำหรับผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าแบบใหม่นี้ เนื่องจากกังวลถึงความปลอดภัยของชุมชนผู้ย้ายถิ่นชาวพม่า  เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม องค์กรทั้งสามได้ส่งจดหมายร้องทุกข์ (พร้อมคำแนะนำ) ต่อนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้รัฐบาลทำการปรับแก้ไขโครงการบางส่วน
 
  จากข้อมูลที่องค์การเพื่อการย้ายถิ่นฐานสากลรวบรวม มีการออกหรือขยายระยะเวลาใบอนุญาตทำงานจากเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 1,325,057 ฉบับโดยในจำนวนนี้ สำหรับคนงานจากพม่าทั้งสิ้น 1,077,981 ฉบับ ในเดือนพฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีประกาศว่า เด็กผู้ย้ายถิ่นที่เป็นบุตรของผู้ย้ายถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมีสิทธิขึ้นทะเบียนของใบอนุญาตพำนักหากบิดามารดามีใบอนุญาตพำนัก

  หลังจากเว้นการดำเนินการไปสี่ปี คณะกรรมการพิจารณาสถานะภาพผู้หนีภัยการสู้รบประจำจังหวัด (Provincial Admissions Board - PAB) ซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรองผู้แสวงที่พักพิงชาวพม่าที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งของไทยก็กลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้งในฐานะเป็นโครงการนำร่องสำหรับค่ายผู้ลี้ภัยสี่แห่ง  รัฐบาลวางแผนที่จะขยายกระบวนการคัดกรองนี้ไปครบเก้าแห่ง  ในขณะที่รัฐบาลไทยโดยทั่วไป ให้ความร่วมมือกับองค์กรด้านมนุษยธรรมในการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัยของรัฐ แต่ความร่วมมือกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในการให้ความคุ้มครองกลุ่มชนบางกลุ่มยังคงไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากทางการควบคุมตัวผู้แสวงที่พักพิงและผู้ลี้ภัยชาวม้ง ชาวเกาหลีเหนือ และชาวพม่าโรฮิงญาไว้เป็นจำนวนมาก  UNHCR ถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการไม่ให้ดำเนินการกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยหรือให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มชนเหล่านี้ รวมถึงชาวพม่าที่อยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยที่ทางการจัดให้  UNHCR ยังคงสามารถเข้าสัมภาษณ์ผู้แสวงที่พักพิงที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อพิจารณาสถานภาพ  และประเทศที่รับการโยกย้ายถิ่นฐานได้รับอนุญาตให้ดำเนินการที่ศูนย์ฯ ได้ด้วยเช่นกัน  องค์กรเอกชนสามารถจัดหาอาหารและบริการทางสุขภาพเพิ่มเติมได้  รัฐบาลอนุญาตให้ UNHCR เฝ้าสังเกตได้ที่ศูนย์ฯ ซึ่งมีผู้ย้ายถิ่นใหม่ถูกควบคุมตัวอยู่
 
  รัฐบาลยังคงให้ UNHCR ตรวจสอบสภาพผู้อพยพชาวพม่าประมาณ 140,000 คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งเก้าแห่งตามชายแดนพม่า แต่ไม่อนุญาตให้ UNHCR อยู่ประจำที่ค่ายชายแดนเป็นการถาวร  องค์กรเอกชนให้ความอนุเคราะห์สำหรับปัจจัยพื้นฐานแก่ผู้อยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย ทางการอนุญาตให้ UNHCR ดำเนินการทำบัตรประจำตัวแก่ผู้ลี้ภัยที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและอาศัยอยู่ที่ค่าย

  รัฐบาลยังคงอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม และเมื่อถึงสิ้นปี มีชาวพม่า 16,685 คนออกจากค่ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม  รัฐบาลเต็มใจให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับอย่างปลอดภัยและโดยสมัครใจของผู้ลี้ภัยที่ต้องการกลับประเทศ
 
   รัฐบาลอนุญาตให้องค์กรเอกชนจัดหาอาหาร การศึกษา บริการรักษาพยาบาล ที่พักอาศัย และบริการอื่นๆ แก่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่มีเหตุผลเพียงพอในการอ้างสิทธิเป็นผู้ลี้ภัย แต่อาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัย  เจ้าหน้าที่ทางการจับกุมชาวพม่าที่อยู่นอกค่ายในข้อหาเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมายอยู่เป็นครั้งคราว  โดยทั่วไป ผู้ที่ถูกจับกุมจะถูกนำตัวไปปล่อยไว้ที่ชายแดน โดยไม่ได้ถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของพม่า  มีหลายคนที่หลังจากนั้นไม่นานก็กลับเข้ามาในไทยอีก
 
   รัฐบาลจัดกระบวนการคัดกรองโดยคณะกรรมการ PAB “แบบเร่งด่วน” เป็นพิเศษสำหรับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2550   คณะกรรมการ PAB พิเศษอนุมัติให้บุคคล 98 รายได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยและได้โยกย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

  ผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าจำนวนมากที่เจอกับทหารที่ด่านตรวจชายแดนของไทยยังคงถูกส่งตัวกลับประเทศพม่าโดยไม่ทันเดินทางถึงค่ายผู้ลี้ภัย  อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้แสวงที่พักพิงกลุ่มอื่นๆ จำนวนหลายพันคนสามารถเดินทางเข้าประเทศและเข้าค่ายผู้ลี้ภัยได้ 

  ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนที่หลบหนีการต่อสู้ในพม่าได้รับอนุญาตให้อยู่ในเขตแดนไทย แต่ไม่ได้เข้าค่ายผู้ลี้ภัย  รัฐบาลทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนและ UNHCR ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม  องค์กรระหว่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง 19 คนที่เพิ่งเข้ามาในประเทศและเข้าไปอยู่ในค่าย เมื่อหรือราววันที่ 20 มิถุนายน ถูกส่งตัวกลับเข้าเขตพม่าในพื้นที่ที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐบาลกลาง

  จากตัวเลขของ UNHCR มีผู้แสวงหาที่พักพิงชาวพม่าประมาณ 50,000 คนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่ง  ในช่วงปีที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาสถานะภาพผู้หนีภัยการสู้รบที่เพิ่งกลับมาดำเนินการอีกครั้งได้ลงทะเบียนผู้หาแสวงที่พักพิงเหล่านี้ประมาณ 5,000 คน

  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม รัฐบาลบังคับส่งตัวชาวม้งจากค่ายในอำเภอห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ที่กองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการจำนวน 4,351 คนกลับประเทศลาว ชาวม้งกลุ่มนี้บางคนก็มีข้ออ้างลี้ภัยที่สมเหตุสมผล  รัฐบาลไม่ได้อนุญาตให้ UNHCR สัมภาษณ์ผู้ที่ถูกกักขังที่ห้วยน้ำขาวเพื่อกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัย  ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการส่งชาวม้งอีกประมาณ 1,200 คนกลับประเทศลาวรวมทั้งสิ้นหกครั้ง  หลายคนมีท่าทางว่าสมัครใจกลับ แต่ไม่มีฝ่ายที่สามที่เป็นองค์กรอิสระสังเกตการณ์เดินทางกลับ  นอกจากนี้ มีผู้ถูกกักขังอย่างน้อย 15 คน ซึ่งถูกจับกุมฐานละเมิดกฎของค่ายลี้ภัยและต้องเลือกระหว่างถูกคุมขังกับเดินทางกลับประเทศลาว  ทุกคนเลือกประการหลัง   กฎข้อห้ามของค่ายรวมถึงการรุกล้ำเขตแดนซึ่งมีหลายรูปแบบเช่น การประท้วง การขายสลากใต้ดินและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่   มีรายงานว่า ระบบการคัดกรองภายในของรัฐตั้งขึ้นเพื่อระบุผู้ถูกกักขังที่อาจเผชิญอันตรายหากถูกส่งตัวกลับประเทศลาว ทว่า รัฐบาลไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ มากนัก  องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งให้อาหาร น้ำ การสุขาภิบาลและการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ค่ายผู้ลี้ภัย

  เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม รัฐบาลได้บังคับผู้ลี้ภัยชาวม้ง 158 คนที่ UNHCR รับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยแล้ว ให้กลับไปประเทศลาว ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 87 คน   ก่อนการส่งตัวกลับไม่นานนัก ประเทศที่สามที่จะรับผู้ลี้ภัยได้รับอนุญาตให้พบผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เป็นครั้งแรกเพื่อเริ่มกระบวนการคัดกรอง ชาวม้งกลุ่มนี้ถูกกักในห้องคุมขังเล็กๆ ที่ศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดหนองคายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  มีหลายประเทศที่พยายามจะรับพิจารณาชาวม้งกลุ่มที่ถูกกักขังที่หนองคายนี้เพื่อการโยกย้ายตั้งถิ่นฐาน  แต่ทางการไม่อนุญาตให้ดำเนินการจนสำเร็จ
 
  ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 จนถึงเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่พลเรือนอาสาสมัครรักษาดินแดนในท้องถิ่นซึ่งปฏิบัติการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลกลาง ดำเนินนโยบาย “ผลักดันกลับประเทศ” ต่อผู้ย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาที่เดินทางผ่านประเทศไทย  ชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่เดินทางโดยเรือถูกสกัดกักตัวไว้ชั่วคราวก่อนที่ทางการจะลากเรือพวกเขากลับออกทะเลไปปล่อยเป็นอิสระพร้อมทั้งให้อาหารและน้ำจำนวนจำกัด  หลังจากนั้น มีรายงานการเสียชีวิตของคนในกลุ่มนี้  ภายหลัง มีการยกเลิกนโยบาย “ผลักดันกลับประเทศ” หลังจากที่ประชาคมโลกทราบข่าวนี้  กลุ่มผู้ย้ายถิ่นที่ตามมาจำนวน 78 คนถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนดในเดือนมกราคม  UNHCR ได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้ย้ายถิ่นกลุ่มนี้ครั้งหนึ่งเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อพยายามระบุประเทศต้นกำเนิดของบุคคลเหล่านี้ ผู้ย้ายถิ่นดังกล่าวประกอบด้วยชาวโรฮิงญาและชาวบังคลาเทศ รัฐบาลไม่อนุญาตให้พิจารณาเพื่อกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัย ในเดือนกรกฎาคม ชายหนุ่มสองคนในกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยขณะอยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว  ในเดือนสิงหาคม ชายและเด็กชายจำนวน 76 คนถูกย้ายจากศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดระนองไปอยู่ที่ศูนย์ฯ กรุงเทพมหานคร

   รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเชื้อชาติคะเร็นนี ประด่อง เดินทางออกจากประเทศไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ

 บุคคลไร้สัญชาติ

 ในประเทศไทย มีบุคคลไร้สัญชาติอาศัยอยู่จำนวนพอสมควรแต่ไม่ทราบตัวเลขแน่นอน บุคคลไร้สัญชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่อาศัยอย่างหนาแน่นในภาคเหนือ และมีผู้ไร้สัญชาติบางส่วนที่อพยพมาจากพม่า แต่ไม่ได้มีเชื้อสายและสัญชาติพม่า อย่างไรก็ตามยังมีผู้ไร้สัญชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าข่ายสองกลุ่มที่กล่าวมาแล้ว

 ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล พ.ศ. 2548 ระบุว่ามีชาวเขาจำนวน 360,000 คนได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยชั่วคราวเนื่องจากอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน มีเด็กไร้สัญชาติจำนวน 60,000 คนศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษา มีชาวเขาอีกจำนวน 17,606 คนที่ไม่มีเอกสารประจำตัวแต่มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นชาวเขาในประเทศไทย และบุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้ระบุจำนวน  ตามข้อมูลนี้ บุคคลไร้สัญชาติทั้งหมดคาดว่ามีจำนวนประมาณ 437,000 คน

 การได้สัญชาติมิได้เป็นไปโดยอัตโนมัติอันเนื่องมาจากการเกิดในประเทศตามกฎหมายแล้ว การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบิดาหรือมารดาหรือทั้งบิดาและมารดาที่เป็นคนไทย การสมรสกับชายไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจได้สัญชาติตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ประการสุดท้าย อาจมีการอนุมัติสัญชาติไทยได้ภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2551 (อ่านหมวดที่ 6 เรื่อง “เด็ก”) มีอุปสรรคสำคัญหลายประการในการพิสูจน์สัญชาติ เช่น หลักฐานทางเอกสารไม่เพียงพอที่ชาวเขาไร้สัญชาติจะพิสูจน์สถานะของตนเอง ข้อมูลสำมะโนประชากรที่ไม่สมบูรณ์และขัดแย้ง อุปสรรคด้านภาษา และกระบวนการอุทธรณ์ที่ซับซ้อน กฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสัญชาติที่ซับซ้อนและเนื้อหาที่ไม่ชัดเจนมักนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมและการเรียกร้องเงินจากข้าราชการทุจริต
 
 นักวิชาการยังรายงานด้วยว่าข้าราชการท้องถิ่นกีดกันชาวเขาในการใช้สิทธิของบุคคลสัญชาติไทย ด้วยการลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อทะเบียนบ้าน การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยไม่สามารถทำงานบางประเภท เข้าถึงการรักษาพยาบาล ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน และแจ้งเกิดบุตรของตนได้

 พระราชบัญญัติสัญชาติปี พ.ศ. 2551 ให้สิทธิชาวเขาบางประเภทซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิขอสัญชาติไทย สามารถขอสัญชาติไทยได้ในขณะนี้ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังปรับปรุงขั้นตอนการขอสัญชาติให้กระชับขึ้น และคลายความเข้มงวดด้านหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบ องค์กรเอกชนแห่งหนึ่งประมาณว่าอาจมีชาวเขาจำนวน 100,000 คนได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติฉบับนี้
 
 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2551 กำหนดว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศจะได้รับใบเกิดจากทางการ ไม่ว่าบิดามารดาจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร บุคคลไร้สัญชาติบางรายที่เกิดในประเทศและอาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิในการขอสัญชาติไทยก็มักสละสิทธิเพื่อจะได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “แรงงานต่างด้าว” และมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากทางการ และทำงานบางประเภทซึ่งบุคคลไร้สัญชาติไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อทำเช่นนี้ คนเหล่านี้ก็สูญเสียสิทธิในการขอสัญชาติไป อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใหม่อนุญาตให้คนเหล่านี้ขอสัญชาติใหม่ได้ แต่ต้องยกเลิกสถานภาพแรงงานต่างด้าวของตน และปฏิบัติตามขั้นตอนอื่นๆ อีก เช่น คืนใบอนุญาตทำงาน

 การบังคับใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรไม่มีมาตรฐาน บ่อยครั้งที่การปฏิบัติตามกฎหมายขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถและความเต็มใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แม้บุคคลไร้สัญชาติจำนวนมาก รวมทั้งผู้ลี้ภัยจะได้รับใบเกิดจากทางการ แต่มีบางส่วนที่ไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวซึ่งตนมีสิทธิควรได้รับ

 ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2548 อนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่มีสถานภาพทางกฎหมายและเดินทางเข้าไทยก่อนเดือนมกราคม พ.ศ. 2538 มีสิทธิพำนักในประเทศได้ชั่วคราว และสามารถยื่นขอสถานภาพทางกฎหมายประเภทต่างๆ ได้รวมทั้งสัญชาติไทย อย่างไรก็ดี เมื่อถึงสิ้นปี ระเบียบข้อบังคับบางข้อยังอยู่ระหว่างการจัดทำ
  
 ชาวเขาไร้สัญชาติที่เป็นผู้หญิงต้องเผชิญอุปสรรคในการขอสัญชาติมากกว่าชาวเขาที่เป็นชาย ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวเขาและสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงทำให้หญิงชาวเขามีโอกาสจำกัดในการศึกษาต่อหลังจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่มีสิทธิเข้าถึงกิจกรรมทางการเมืองที่ให้ความรู้แก่ผู้หญิงเกี่ยวกับกระบวนการขอสัญชาติ หญิงชาวเขาไร้สัญชาติส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโอกาสทำงานนอกบ้าน จึงไม่มีเงินจ่ายสินบนที่เจ้าหน้าที่เรียกร้องเป็นค่าดำเนินการขอสัญชาติ ชาวเขาอ้างว่าต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่อำเภอตั้งแต่ 3,000 -49,000 บาท แม้ว่าในการดำเนินการเกี่ยวกับการขอสัญชาตินั้น จะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอย่างเป็นทางการ องค์กรเอกชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางคนบังคับให้หญิงชาวเขามีเพศสัมพันธ์กับตนแลกกับการอนุมัติสัญชาติให้เร็วขึ้น
 
 ชาวเขาผู้ไร้สัญชาติจำนวนมากมีสภาพความเป็นอยู่ยากจน การที่คนเหล่านี้ไม่มีสถานะพลเมือง ทำให้ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เป็นเจ้าของที่ดิน หรือเดินทางออกนอกอำเภอหรือจังหวัดที่ตนพำนักอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้า ชาวเขาไร้สัญชาติยังประสบความยากลำบากในการขอกู้เงิน ขอหลักฐานวุฒิการศึกษา และการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล กฎหมายยังห้ามชาวเขาประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย เช่น อาชีพเกษตรกรรม แม้ว่าในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ทางการจะอนุญาตให้ชาวเขาทำการเกษตรเล็กๆน้อยๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เมื่อไม่มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลไร้สัญชาติจึงมักถูกจับกุม ถูกเนรเทศ ถูกรีดเงิน และการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องอื่นๆ  องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สันนิษฐานว่าการไร้ไร้สัญชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการเดียวที่ทำให้ชาวเขาถูกนำมาค้าหรือแสวงประโยชน์ เช่น ถูกบังคับให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรือกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ เนื่องจากชาวเขาเหล่านี้ไม่มีโอกาสประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ถูกกฎหมายได้

 แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 จะระบุว่าเด็กทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (9 ปีในระดับโรงเรียน จนถึงอายุ 15 ปี หรือจนถึงมัธยมศึกษา) ไม่ว่าจะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ได้เคารพในสิทธิดังกล่าวเสมอไป องค์กรสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมักกีดกันเด็กที่ไม่มีเอกสารประจำตัวจากการเข้าศึกษาในโรงเรียน รายงานการสำรวจประชากรชาวเขา 12,000 ครัวเรือนในภาคเหนือขององค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2549 ระบุว่าชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติมีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นต้นน้อยกว่าชาวเขาที่มีสัญชาติร้อยละ 73 และมีแนวโน้มที่จะเรียนต่อในชั้นสูงน้อยกว่าชาวเขาที่มีสัญชาติร้อยละ 98  ยิ่งกว่านั้น องค์กรสิทธิมนุษยชนยังรายงานว่านักเรียนไร้สัญชาติซึ่งจบการศึกษาขั้นต้นมักไม่ได้รับใบประกาศนียบัตร ซึ่งทำให้เด็กเหล่านี้มีอุปสรรคในการสมัครเรียนต่อในขั้นสูงและเป็นการจำกัดโอกาสในการหางานทำ ในเดือนสิงหาคม กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่าในจำนวนเด็กไร้สัญชาติซึ่งคาดว่ามีประมาณ 260,000 คนในประเทศไทย มีเพียง 60,000 คนที่อยู่ในระบบการศึกษาของรัฐ ส่วนที่เหลืออาจไม่ได้เรียนในโรงเรียนหรืออาจเรียนตามศูนย์การเรียนที่ไม่เป็นทางการ

 บุคคลไร้สัญชาติที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศต้องมีใบอนุญาตออกนอกประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 กระทรวงการต่างประเทศออกใบอนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติไปศึกษาในต่างประเทศ บุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ที่พำนักในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน รวมทั้งชาวไทยใหญ่และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเขาจำนวนหลายพันคน ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือกองทัพถ้าต้องการเดินทางไปต่างประเทศหรือภายในประเทศ 

 เด็กชายหม่อง ทองดี วัย 12 ปี ซึ่งมีบิดามารดาเป็นแรงงานชาวพม่าเชื้อสายไทยใหญ่ ต้องประสบความยากลำบากในการขอเอกสารเดินทางเพื่อไปร่วมการแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยซึ่งเด็กชายหม่องชนะเลิศมาแล้ว แต่หลังจากสื่อมวลชนให้ความสนใจในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้เข้ามาช่วยเหลือ และในเดือนกันยายน เด็กชายหม่องก็ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อร่วมการแข่งขัน

 เด็กหญิงนารวย จะเติง วัย 14 ปี ซึ่งมีบิดามารดาเป็นชาวเขา ชนะรางวัลที่สามในการแข่งขันตั้งชื่อแพนด้าน้อยที่เพิ่งคลอดที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยได้รับรางวัลเงินสด 100,000 บาทและได้ไปเที่ยวประเทศจีนฟรี ในฐานะที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติ เด็กหญิงนารวยจึงถูกห้ามเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับเงินรางวัลและถูกห้ามเดินทางไปจีนในตอนแรก แม้ว่าบิดามารดาของเด็กหญิงนารวยซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านไกลโพ้นแห่งหนึ่งทางเหนือสุดของไทยมีสิทธิ์ขอสัญชาติไทยได้ แต่พวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนใบเกิดเด็กหญิงนารวยที่อำเภอได้ ดังนั้น เด็กหญิงนารวยจึงไม่มีเอกสารประจำตัว และไม่อาจแสดงสัญชาติเพื่อขอเอกสารการเดินทาง ต่อมา เด็กหญิงนารวยได้รับอนุญาตให้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อรับเงินรางวัลในวันที่ 10 กันยายน หลังจากกลับจากกรุงเทพฯ เด็กหญิงนารวยก็ได้รับสัญชาติไทยในเดือนเดียวกัน บิดามารดาของเด็กหญิงนารวยได้ยื่นเรื่องขอสัญชาติให้บุตรสาวมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว และการที่สื่อมวลชนให้ความสนใจในเรื่องนี้ทำให้การอนุมัติสัญชาติเร็วยิ่งขึ้น     

หมวดที่ 3 การเคารพสิทธิทางการเมือง: สิทธิของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล        

 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ประเทศกลับสู่การปกครองระบบรัฐสภาที่มีสองสภา คือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญให้สิทธิพลเมืองในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างสันติผ่านการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเป็นระยะๆ มีความเสรีและเป็นธรรมบนพื้นฐานของสิทธิในการเลือกตั้งที่เป็นสากลและถือเป็นหน้าที่  รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 480 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 76 คนจากจำนวนทั้งหมด 150 คน ส่วน ส.ว. ที่เหลือ 74 คนจะมาจากการแต่งตั้งโดยหน่วยงานตุลาการและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ

 การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยทั่วไปถือว่าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวหาว่ามีการซื้อเสียงอย่างกว้างขวาง มีการกระทำผิดขั้นตอนการเลือกตั้งเล็กๆ น้อยๆ และมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามีการคุกคามข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่ทหารและข้าราชการท้องถิ่นในหลายพื้นที่ ผู้สังเกตการณ์นานาชาติระบุว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ของประเทศในช่วงการเลือกตั้งขัดต่อบรรทัดฐานสากล

 ในช่วงปี พ.ศ. 2552 มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 8 ครั้งใน 33 อำเภอใน 26 จังหวัด คณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานว่าได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งที่เกี่ยวกับการให้สัญญาระหว่างการหาเสียงหรือการซื้อเสียง 62 เรื่อง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือถูกสังหารระหว่างการเลือกตั้งซ่อมเหล่านี้ อย่างไรก็ดี ในระหว่างการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดสกลนครเมื่อวันที่ 20 เมษายน มีเหตุระเบิดใกล้บริเวณที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยกำลังปราศรัยบนเวที แต่ไม่มีการระบุชี้หรือจับกุมผู้ต้องสงสัย

 ในรัฐสภา วุฒิสภามีสมาชิกครบทั้ง 150 คน ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส. ขาดไป 7 คนจากจำนวนทั้งหมด 480 คน ส่วนใหญ่เนื่องจากมีการยุบพรรคในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 การเสียชีวิต การลาออกหรือการถูกตัดสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เพิกถอนสถานภาพของ ส.ส. 16 คน เนื่องจากฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญด้วยการถือหุ้นซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ส.ส. เหล่านี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อรอคำตัดสินสุดท้ายจากศาลรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการเพิกถอนสถานภาพของ ส.ว. 17 คนและ ส.ส. 13 คนในข้อหาเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายน ในกลุ่มหลังนี้ มี ส.ว.และส.ส. อย่างละ 1 คนเท่านั้นที่ลาออกในขณะนั้นและมีการเลือกตั้งบุคคลเข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนอีก 28 คนยังคงอยู่ในตำแหน่ง ในเดือนเมษายน ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยกคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เพิกถอนสถานภาพของ ส.ว. คนหนึ่งในข้อหาทุจริตเลือกตั้ง และในเดือนมีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เพิกถอนสถานภาพของ ส.ว. อีกคนหนึ่งเนื่องจากขาดสมาชิกภาพ ส.ว. ทั้งสองคนได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งตามเดิม

 พรรคการเมืองสามารถดำเนินงานโดยไม่มีข้อจำกัดหรือการแทรกแซงจากภายนอก อย่างไรก็ดี การฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคสามคนมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้ยุบพรรคการเมืองสามพรรคจากทั้งหมดแปดพรรคที่มี ส.ส.อยู่ในสภา ในจำนวนสามพรรคที่ถูกยุบเป็นพรรคใหญ่ที่สุดสองพรรค รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้อำนาจในการยุบพรรค และยังตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบทุกคนเป็นเวลาห้าปีด้วย มีกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 106 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจาการที่พรรคของตนถูกยุบ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองอีก 29 พรรคเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง และมีพรรคหนึ่งขอให้มีการยุบพรรคของตน
 
 วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง 87 คนจากสมาชิกทั้งหมด 630 คน ส.ว. หญิงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 5 คณะจากทั้งหมด 22 คณะ ส่วนในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มี ส.ส. หญิงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการใดเลย มีรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง 4 คน รัฐธรรมนูญสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีสมาชิกพรรคที่เป็นหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงเลือกตั้งได้ แต่องค์กรเอกชนหลายแห่งชี้ว่ามีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการเลือกตั้ง

 มีสมาชิกจากชนกลุ่มน้อยไม่กี่คนที่มีตำแหน่งสูงในการเมืองระดับประเทศ ชาวมุสลิมจากภาคใต้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าชาวมุสลิมที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัดยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควร
ในรัฐสภา มีสมาชิกที่นับถือศาสนาอิสลาม 30 คนและนับถือศาสนาคริสต์ 6 คน
 
หมวดที่ 4 การทุจริตในวงราชการและความโปร่งใสของรัฐบาล

 กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทุจริตในวงราชการ แม้ว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของรัฐบาลยังอ่อนแอและในบางครั้งข้าราชการก็เกี่ยวข้องในการทุจริตโดยไม่ต้องรับโทษ 

 ในเดือนกันยายน มีการพิพากษาคดีที่กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 ในข้อหายักยอกรายได้จากการจำหน่ายล็อตเตอรีของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณและจำเลยอีก 43 คนได้รับการยกฟ้อง ส่วนอดีตรัฐมนตรีสองคนและอดีตข้าราชการหนึ่งคนถูกตัดสินจำคุกสองปีโดยให้รอลงอาญา (ภายหลังลดโทษเหลือให้คุมประพฤติหนึ่งปี) การที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่มาให้ปากคำทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระงับการพิจารณาคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ฟ้องร้อง พ.ต.ท. ทักษิณในข้อหาอนุมัติเงินกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยแก่พม่าเป็นจำนวน 4,000 ล้านบาท และออกหมายจับ พ.ต.ท. ทักษิณแทน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ กำลังพิจารณาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ มูลค่า 76,000 ล้านบาทอยู่และมีการไต่สวนครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ภรรยาของ พ.ต.ท. ทักษิณและพี่ชายพร้อมเลขานุการิณีถูกศาลพิพากษาจำคุกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ในข้อหาเลี่ยงภาษี โดยมีโทษจำคุกระหว่าง 2-3 ปี ทั้งหมดได้รับการประกันตัว และรอฟังผลยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน

 ในเดือนพฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดอดีตผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สองรายในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดขณะดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2544-2545 สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาคดีนี้ เจ้าหน้าที่ดังกล่าวของ ปปง. ได้สั่งให้ตรวจสอบสถานภาพทางการเงินของผู้สื่อข่าว พนักงานองค์กรเอกชน และนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านประมาณ 200 คนที่กล่าวตำหนิ พ.ต.ท. ทักษิณ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

 ในเดือนพฤษภาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังออกจากราชการ ภายหลัง ปปช. ชี้มูลความผิดนายศุภรัตน์ในข้อหากระทำผิดวินัยในการแต่งตั้งรองอธิบดีกรมสรรพากรสี่คนในปี พ.ศ. 2543

 สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งว่าการสอบสวนหลังการจับกุม
พ.ต.อ. ชาญชัย เนติรัฐการในข้อหาให้สินบนผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญสองท่านไม่พบหลักฐานเพียงพอสำหรับการดำเนินคดี คดีดังกล่าวถูกส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบและคดีได้ปิดลงในเดือนพฤษภาคม

 ในเดือนมิถุนายน คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. ออกจากราชการในข้อหาผิดวินัย ภายหลังที่กระทรวงการคลังและสำนักงานปราบปรามการทุจริตภาครัฐชี้มูลความผิดว่านายวิสิฐซื้อขายหลักทรัพย์โดยอาศัยข้อมูลภายใน

 ในวันที่ 21 กันยายน ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้สั่งยกฟ้องรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงในรัฐบาลทักษิณจำนวน 44 คน รวมทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการจัดซื้อกล้ายางในปี พ.ศ. 2546

 ในปี พ.ศ. 2552 ปปช. และสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงสอบสวนคดีทุจริตในสมัยรัฐบาลทักษิณต่อไป  ผลการสอบสวนของ คตส. และสำนักงานอัยการสูงสุดทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพิจารณาคดีจำนวนมาก ปปช. ยังส่งฟ้องศาลอีกหลายคดี และรายงานว่ามีคดีจำนวน 6,407 คดีที่รอการสอบสวนอยู่ ในช่วงปี ปปช. ได้รับเรื่องร้องเรียน 2,779 เรื่อง ในจำนวนนี้ พิจารณาเสร็จ 1,964 คดี โดยในจำนวนนี้ 206 คดีต้องดำเนินการขั้นต่อไป เช่น การลงโทษทางวินัย การถอดถอน และการส่งต่อคดีไปยังศาล สำนักงานอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการร่วมระหว่างปปช.และสำนักงานอัยการสูงสุด

 เมื่อถึงปลายปี สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังพิจารณาคดีที่คตส. ยื่นฟ้องอดีตรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงเจ็ดคนในข้อหาผิดวินัยในคดีจัดซื้อรถดับเพลิงในปี พ.ศ. 2550

 กฎหมายกำหนดให้ข้าราชการต้องแจ้งรายการทรัพย์สินของตน นอกจาก
ปปช.  คตส. และสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ยังรวมถึงหน่วยงานที่มีบทบาทในการปราบปรามการทุจริตอื่นด้วย อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศาลฎีกา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ศาลปกครอง และกระทรวงยุติธรรม

 รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ
ไม่มีรายงานว่ามีหน่วยราชการใดปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลจากประชาชน หากหน่วยราชการใดปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลแก่ประชาชนตามคำร้อง ประชาชนอาจยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และผู้ร้องสามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินเบื้องต้นของคณะกรรมการฯ ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการระบุว่าคำร้องทุกข์ส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติ ในช่วงปี พ.ศ. 2552 มีการยื่นคำร้อง 344 ฉบับ และมีการยื่นอุทธรณ์ 134 ฉบับ คำร้องอาจถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน

หมวดที่ 5 ทัศนะของรัฐบาลเกี่ยวกับการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเอกชนในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 โดยทั่วไป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศหลาย
ประเภทสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐบาล โดยสืบสวนสอบสวนตลอดจนตีพิมพ์ผลการสืบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้  อย่างไรก็ตาม องค์กรเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว เช่น การคัดค้านโครงการพัฒนาที่รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนต้องเผชิญกับการคุกคามเป็นระยะๆ นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความรุนแรงในภาคใต้มักเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

 มีองค์กรเอกชนเพียงไม่กี่รายที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี  ซึ่งบางครั้งก็เป็นอุปสรรคในการที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศจะหาทุนได้อย่างเพียงพอ ในวันที่ 24 มีนาคม รัฐบาลได้ต่อทะเบียนสำนักงานของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2551ถึงเดือนเมษายนพ.ศ. 2553 หลังกระบวนการดังกล่าวต้องประสบความล่าช้ามานาน

 ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ หน่วยกำลังผสมทหารและตำรวจได้บุกเข้าตรวจสำนักงานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพประจำจังหวัดปัตตานี องค์กรเอกชนท้องถิ่นแห่งนี้ดำนินการโดยนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไป เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงได้ค้นหาข้อมูลในคอมพิวเตอร์และถ่ายภาพเอกสารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ที่บุกค้นอ้างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกในการตรวจค้นโดยปราศจากหมายค้น ในวันที่ 30 มีนาคม ทหารสี่คนได้กลับมาที่สำนักงานแห่งนี้อีกเพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานและโครงการขององค์กรรวมทั้งขอข้อมูลต่างๆ

 ในเดือนเมษายนและกรกฎาคม นักสิ่งแวดล้อมและผู้นำชุมชนสองคนที่จังหวัดเพชรบุรีถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมปกป้องป่าชุมชนของคนทั้งสอง ส่วนผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในคดีลอบยิงนายกิตติณรงค์ เกิดรอดในเดือนกรกฎาคมกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลเมื่อถึงปลายปี ตำรวจยังไม่ได้ระบุตัวผู้ต้องสงสัยในคดียิงนายภรเทพ หงษ์ทอง ในเดือนเมษายน

 ในเดือนกันยายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ “บุกค้นผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ที่สำนักงานของกลุ่มชาวพม่าพลัดถิ่นอย่างน้อย 12 กลุ่ม โดยกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการบุกค้นได้แก่กลุ่มสถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า (Human Rights Education Institute of Burma) และสหภาพสตรีพม่า (Burmese Women’s Union) สตรีสิบคนของสหภาพแห่งนี้ถูกกักกันตัวแต่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง หลังการถูกบุกค้น สำนักงานหลายแห่งยังคงปิดทำการเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และหลายกลุ่มมีความวิตกห่วงใยในเรื่องนี้

 ในช่วงปี พ.ศ. 2552 ศูนย์ทนายความมุสลิมรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคุกคามพนักงานของศูนย์ฯ และครอบครัวของทนายความประจำศูนย์ฯ โดยเฉพาะด้วยการตรวจค้นบ้านโดยปราศจากหมายค้น และอ้างว่าเป็นการค้นหาผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในภาคใต้

  ในวันที่ 25 มิถุนายน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่เข้ารับตำแหน่ง ภายหลังศาลปกครองตัดสินในเดือนกุมภาพันธ์ให้ยุบคณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ซึ่งยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาเกือบสองปีหลังครบวาระแล้ว องค์กรเอกชนและกลุ่มสิทธิมนุษชนหลายแห่งวิจารณ์คณะกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับการคัดสรรและกระบวนการคัดสรร โดยระบุว่ากรรมการคนหนึ่งเคยถูกระบุชื่อในรายงานสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิฯเมื่อปี พ.ศ. 2550 ว่าเป็นผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ในเดือนสิงหาคม คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการรายนี้ และขอให้มีการถอดถอน ในเดือนตุลาคม คณะกรรมการสิทธิฯ ตัดสินว่าเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐสภา และควรส่งคำร้องไปที่รัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมีอนุกรรมการอย่างน้อยหนึ่งชุดที่ปฏิบัติหน้าที่แข็งขัน คือ คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งดูแลประเด็นเช่นสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวม้งจากลาว ในเดือนกันยายน คณะกรรมการสิทธิฯ เรียกร้องให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตลอดปี พ.ศ. 2552 คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน 716 เรื่อง แต่การขาดแคลนเจ้าหน้าที่และทรัพยากรเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน
  
 รัฐสภามีคณะกรรมาธิการสองชุดที่ดูแลปัญหาสิทธิมนุษยชน ได้แก่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนประจำสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคประจำวุฒิสภา
คณะกรรมาธิการประจำวุฒิสภาทำงานอย่างเข้มแข็งมากกว่าและส่งมอบรายงานต่อที่ประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรายงานฉบับหนึ่งซึ่งมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกระทำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าโดยทั่วไปแล้วคณะกรรมาธิการเหล่านี้มีความตั้งใจดี แต่ขาดอำนาจบังคับทางกฎหมายซึ่งจะช่วยให้คณะกรรมาธิการมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการทั้งสองยังถูกมองว่าทำงานในลักษณะตั้งรับ เข้าถึงยาก และขึ้นอยู่กับความผูกพันทางการเมืองของประธานคณะกรรมาธิการ

หมวดที่ 6 การเลือกปฏิบัติ การกระทำโดยมิชอบในสังคมและการค้ามนุษย์ 

 รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความพิการ ภาษา หรือสถานภาพทางสังคม  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่บ้าง ทั้งยังมีความไม่เท่าเทียมในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิที่เท่าเทียมกันนี้ด้วย

สตรี
  
   การข่มขืนกระทำชำเราถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่ารัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพเสมอไป ประมวลกฎหมายอาญาให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับสามีที่ข่มขืนภรรยาของตน ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้รับแจ้งความคดีข่มขืน 4,273 คดี และมีอีก 12 คดีที่เหยื่อเสียชีวิต ในจำนวนคดีข่มขืนที่ตำรวจได้รับแจ้งความนั้น มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 2,366 คดี และในคดีที่เหยื่อเสียชีวิต มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 8 คดี กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีผู้หญิงและเด็กประมาณ 10,206 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหญิงที่อายุมากกว่า 18 ปีจำนวน 1,938 คนและเด็กจำนวน 8,268 คน
 
 องค์กรเอกชนเชื่อว่าการข่มขืนเป็นปัญหาร้ายแรงในประเทศ  นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีระบุว่ามีการแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราหรือการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวน้อยกว่าความเป็นจริง  ส่วนหนึ่งเนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหาไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ และหน่วยงานรักษากฎหมายก็ถูกมองว่าไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ฝ่ายตำรวจได้พยายามแก้ไขมุมมองดังกล่าว โดยสนับสนุนให้สตรีแจ้งความอาชญากรรมทางเพศด้วยการจัดหาเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงมาประจำตามสถานีตำรวจในเขตกรุงเทพมหานครและอีกสามจังหวัด ทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 143 คนที่ทำหน้าที่รับแจ้งความคดีล่วงละเมิดทางเพศ

 กฎหมายกำหนดบทลงโทษหลายระดับสำหรับคดีข่มขืน โดยพิจารณาจากอายุของผู้เสียหาย ระดับความรุนแรงของการกระทำ และสภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้เสียหายหลังจากถูกทำร้าย บทลงโทษเริ่มตั้งแต่โทษจำคุก 4 ปีไปจนถึงจำคุกตลอดชีวิตรวมทั้งโทษปรับ กฎหมายยังระบุด้วยว่าบุคคลใดที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในคดีข่มขืนซ้ำเป็นครั้งที่สองภายในเวลา 3 ปีต้องได้รับโทษเพิ่ม โทษปรับขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิตของผู้ถูกข่มขืน โดยทั่วๆ ไป จะอยู่ระหว่าง 30,000 –150,000 บาท

 การใช้ความรุนแรงต่อสตรีในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญ พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวกำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 6,000 บาทหรือโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนสำหรับผู้กระทำผิด และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการห้ามผู้กระทำความผิดอาศัยในบ้านต่อไป หรือติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย กฎหมายยังกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการแจ้งความเหตุความรุนแรงในครอบครัว และการรอมชอมระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามสื่อรายงานคดีความรุนแรงในครอบครัวในช่วงที่คดีอยู่ในกระบวนการศาลแล้ว  

 มีการดำเนินคดีความรุนแรงในครอบครัวบางคดีภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการทำร้ายร่างกายหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น บ่อยครั้งที่ไม่มีการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มักไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามคดีประเภทนี้ องค์กรเอกชนให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ  อาทิ บริการโทรศัพท์สายด่วน การจัดที่พักพิงชั่วคราว และบริการให้คำปรึกษา เพื่อเพิ่มจิตสำนึกของประชาชนในปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอ็ชไอวีและโรคเอดส์  และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับสตรี  ศูนย์วิกฤติของรัฐที่จัดตั้งขึ้นในโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง ยังคงให้การดูแลรักษาสตรีและเด็กที่ถูกทำร้าย แม้ว่าจะประสบปัญหางบประมาณขาดแคลน โรงพยาบาลของรัฐเหล่านี้จะส่งตัวผู้ถูกทำร้ายไปองค์กรอื่นๆ ในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้ ศูนย์วิกฤตของรัฐแจ้งว่าได้รับรายงานการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทั้งสิ้น 23,499 เหตุการณ์ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2552

 ในช่วงปี พ.ศ. 2552 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ได้เพิ่มระบบเครือข่ายชุมชนที่ช่วยป้องกันสตรีจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวขึ้นอีกสี่แห่งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้หลังจัดตั้งโครงการแห่งแรกที่กรุงเทพฯ ตัวแทนจากชุมชนแต่ละแห่งได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเพิ่มจิตสำนึกในสิทธิของสตรีและการป้องกันการถูกทำร้าย
 
 แม้ว่าการค้าประเวณีจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นอาชีพที่อย่างเปิดเผยทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินจากการค้าประเวณีมักให้ความคุ้มครองธุรกิจนี้ การค้าสตรีและเด็กเพื่อธุรกิจค้าประเวณีเป็นปัญหาร้ายแรง แม้รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ การที่ธุรกิจค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโสเภณีจำนวนมากที่ค้าประเวณีเพียงชั่วคราวทำให้เป็นการยากที่จะระบุตัวเลขที่แน่นอน และตัวเลขประเมินก็แตกต่างกันมาก ผลการสำรวจของรัฐบาลในช่วงปีพบว่ามีโสเภณีผู้ใหญ่ 73,917 คนในสถานบันเทิงที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี องค์กรเอกชนบางแห่งเชื่อว่าน่าจะมีโสเภณีอยู่ประมาณ 300,000 คน
 
 มีรายงานว่าสตรีที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนถูกบังคับให้ค้าประเวณี แต่เป็นการยากที่จะยืนยันจำนวนที่แน่นอน องค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐบาลยังคงให้ที่พักพิง ให้การฟื้นฟูบำบัด และจัดโครงการกลับสู่สังคมสำหรับเด็กและสตรีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเพศ

 การท่องเที่ยวเพื่อจุดประสงค์ทางเพศเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่าไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อจุดประสงค์ทางเพศเป็นการเฉพาะ แต่ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณี และกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์มีบทบัญญัติที่มุ่งแก้ปัญหาการท่องเที่ยวเพื่อจุดประสงค์ทางเพศ 

 การคุกคามทางเพศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน กฎหมายสำหรับข้าราชการกำหนดโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าคุกคามทางเพศต่อผู้อื่น ส่วนพนักงานภาคเอกชนต้องฟ้องร้องคดีอาญาถ้าถูกคุกคามทางเพศ บทลงโทษขึ้นอยู่กับระดับของการคุกคามทางเพศและอายุของผู้เสียหาย การคุกคามทางเพศที่ถือว่าเป็นการกระทำอนาจารอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและโทษปรับสูงสุด 30,000 บาท พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ห้ามการคุกคามทางเพศ และกำหนดบทลงโทษไว้ห้าระดับ ได้แก่ การภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก และไล่ออก  องค์กรเอกชนอ้างว่าคำจำกัดความของคำว่าการคุกคามทางเพศที่กฎหมายบัญญัติไว้มีความคลุมเครือและทำให้การดำเนินคดีประเภทนี้เป็นเรื่องลำบาก  บริการโทรศัพท์สายด่วนของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนสำหรับรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามและข่มขู่ทางเพศได้ย้ายโอนเข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักมาตรฐานวินัย ในช่วงของการย้ายโอนและการร่างกฎระเบียบใหม่ บริการโทรศัพท์สายด่วนไม่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศเลย คำร้องเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะไม่มีการลงชื่อ ส่วนคำร้องที่เหลือถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบสวนเป็นการภายใน

 ในเดือนกันยายน เรือโทหญิงรายหนึ่งร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ว่าถูกนายทหารยศพลเอกคุกคามทางเพศ โดยการร้องเรียนดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีตวุฒิสมาชิก พลเอกดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชาของเรือโทหญิงที่กองบัญชาการกองทัพไทย นางระเบียบรัตน์ใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและมีบทลงโทษหนักขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศ เจ้าหน้าที่ของกองบัญชาการกองทัพไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการหกคนขึ้นมาสอบสวนคดีนี้

 คู่สามีภรรยาและบุคคลมีสิทธิตัดสินใจว่าจะมีบุตรกี่คน ช่วงห่างระหว่างการมีบุตรแต่ละคน และเวลาที่จะมีบุตร และคนเหล่านี้มีข้อมูลและช่องทางที่จะทำเช่นนี้ได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ระบบการแพทย์ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐให้บริการด้านอุปกรณ์คุมกำเนิดและข้อมูลเกี่ยวกับการผดุงครรภ์ บริการทำคลอดโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และบริการด้านสูติกรรมและการดูแลเด็กหลังคลอด สตรีมีสิทธิเท่าเทียมในการได้รับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม องค์กรเอกชนบางแห่งอ้างว่าชาวมุสลิมและวัยรุ่นไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้เพียงพอ นอกจากนี้ แพทย์ที่เป็นหญิงชาวมุสลิมก็มีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้น หญิงมุสลิมจึงขาดแรงจูงใจที่จะไปใช้บริการตามโรงพยาบาลของรัฐ

 สถาบันการศึกษาของทหาร (ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาล) ไม่รับสตรีเข้าศึกษาแม้ว่าสถาบันทางทหารเหล่านี้จะมีอาจารย์ที่เป็นสตรีอยู่จำนวนมาก ในการปรับโครงสร้างกองทัพในเดือนกันยายน พันเอกหญิง 13 นายจากทั้งสามเหล่าทัพในสังกัดกระทรวงกลาโหมได้รับการเลื่อนยศเป็นพลตรี โรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัครสตรีเข้าศึกษาเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม และในจำนวนนักเรียนนายร้อยทั้งหมด 280 คนมีสตรี 70 คน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ระบุว่าในปี พ.ศ. 2550 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้บริหารที่เป็นสตรีร้อยละ 22 และบริษัทพาณิชย์มีสตรีที่อยู่ในตำแหน่งบริหารร้อยละ 35 ในปี พ.ศ. 2551 มีสตรีที่อยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงภาครัฐร้อยละ 16 ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนระบุว่ามีสตรีร้อยละ 21 ที่อยู่ในระดับผู้บริหาร สตรีสามารถเป็นเจ้าของและบริหารกิจการได้อย่างเสรี ระเบียบข้อบังคับทางราชการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าแรงและผลประโยชน์แก่ลูกจ้างที่ทำงานเหมือนกันอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงว่าเป็นหญิงหรือชาย  อย่างไรก็ตาม การเลือกปฏิบัติในการว่าจ้างยังคงมีอยู่ทั่วไป และสตรีมักกระจุกตัวอยู่ในงานอาชีพที่มีค่าจ้างต่ำ ในทางปฏิบัติ สตรียังได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายในงานประเภทเดียวกันในภาคเศรษฐกิจหลายภาค 

 สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายสำหรับสตรี โดยเฉพาะผ่านการทำงานของสำนักส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย
 
 เด็ก

 องค์กรเอกชนระบุว่าในบางครั้งชาวเขาและบุคคลไร้สัญชาติอื่นๆ ไม่ได้ลงทะเบียนใบเกิดกับทางการเนื่องจากความยุ่งยากเกี่ยวกับขั้นตอน ข้าราชการท้องถิ่นมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไร้คุณธรรม อุปสรรคด้านภาษา และการถูกจำกัดการเดินทาง (ดูหมวดที่ 2 ง.)

 การได้สัญชาติมิได้เป็นไปโดยอัตโนมัติอันเนื่องมาจากการเกิดในประเทศตามกฎหมายแล้ว การได้สัญชาติต้องเป็นการกำเนิดจากบิดาหรือมารดาหรือทั้งบิดาและมารดาที่เป็นคนไทย การสมรสกับชายไทย หรือการแปลงสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ บุคคลอาจได้สัญชาติตามหลักเกณฑ์พิเศษซึ่งรัฐบาลกำหนดขึ้นและดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย และประการสุดท้าย อาจมีการอนุมัติสัญชาติไทยได้ภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2551 (ดูหมวดที่ 2 ง.) 

 กฎหมายกำหนดให้การศึกษาขั้นต้นเป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเด็กทุกคนได้รับสิทธิอย่างเสมอภาค สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับครูโรงเรียนของรัฐ ทำให้โรงเรียนต้องปิดเป็นการชั่วคราวเป็นระยะๆ และทำให้การศึกษาในจังหวัดเหล่านี้ต้องขาดช่วงไป ในช่วงปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลได้ขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปจาก 8 ปีเป็น 12 ปี และขยายการเรียนฟรีจาก 12 ปีเป็น 15 ปี โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าเล่าเรียน เครื่องแบบ ตำราเรียน และค่าจ่ายอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บ แต่รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนค่าอาหารและค่าเดินทาง
 
 องค์กรเอกชนหลายแห่งรายงานว่าส่วนใหญ่ของบุตรของแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่และที่อำเภอแม่สอด ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ อย่างไรก็ดี อุปสรรคด้านภาษา ระยะการเดินทางไปโรงเรียน และการที่เด็กๆ ต้องติดตามบิดามารดาซึ่งย้ายไปทำงานตามที่ต่างๆ ทำให้เด็กบางส่วนไม่ไปเรียน  เด็กในกลุ่มนี้ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการต่างๆ ในชุมชนที่มีไว้สำหรับเด็กที่เรียนในโรงเรียนของรัฐ เช่น ศูนย์ดูแลเด็กช่วงกลางวัน นมฟรีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และอาหารกลางวัน แรงงานต่างด้าวที่มีเงินพอจึงมักเลือกที่จะส่งบุตรไปยังโรงเรียนเด็กเล็กหรือศูนย์ดูแลเด็กของเอกชนโดยจ่ายเงินเอง

 กฎหมายมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กจากการถูกทำร้าย และกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราและการทอดทิ้งกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก กฎหมายกำหนดโทษจำคุกระหว่าง 7 ปีถึง 20 ปีและโทษปรับสูงสุด 40,000 บาทสำหรับการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี  ถ้าผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 15 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 4-20 ปีและโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท

 ในช่วงปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งได้สำรวจความคิดเห็นบุคคลอายุระหว่าง 12-24 ปีในเขตกรุงเทพฯ และพบว่าร้อยละ 12.9 เคยถูกคุกคามทางเพศ
เจ้าหน้าที่ตำรวจมักไม่เต็มใจสอบสวนคดีคุกคามเหล่านี้ และระเบียบว่าด้วยวัตถุพยานก็ทำให้การดำเนินคดีคุกคามต่อเด็กยากขึ้น  มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และมีกระบวนการที่ให้เด็กให้ปากคำเป็นการส่วนตัวโดยมีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์อื่นๆ ร่วมฟังและบันทึกเป็นเทปวีดิทัศน์ ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากศาล  อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาหลายคนปฏิเสธไม่รับคำให้การที่บันทึกเทปวีดิทัศน์ โดยอ้างปัญหาทางเทคนิคและการที่ไม่สามารถซักค้านโจทก์และจำเลยได้โดยตรงในศาล นักคุ้มครองสิทธิเด็กบางคนอ้างว่าเด็กหญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับการดูแลทางร่างกายและจิตใจดีกว่าเด็กชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ต้องหาคดีละเมิดทางเพศเด็กจะถูกฟ้องตามกฎหมายว่าด้วยผู้เยาว์และกฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณี  การเบิกความของผู้เสียหายจะดำเนินการตามบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานเด็ก 

 การค้าประเวณีเด็กยังเป็นปัญหา โดยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าประเวณีเด็กสาวรุ่น รวมทั้งการค้าเด็กเพื่อการแสวงประโยชน์ทางเพศ การละเมิดทางเพศกับเด็กยังคงมีอยู่ ซึ่งมีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยเพื่อซื้อบริการทางเพศ   ในปี พ.ศ. 2550 รัฐบาล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยและองค์กรเอกชนคาดว่ามีโสเภณีอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 60,000 คน พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีถือว่าการค้าประเวณีเด็กเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และยังกำหนดว่าผู้ที่ไปใช้บริการโสเภณีอายุต่ำกว่า 18 ปีมีโทษทางอาญา มาตรา 8 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่าผู้ที่ใช้บริการโสเภณีอายุต่ำกว่า 15 ปีจะต้องโทษจำคุก 2-6 ปี และถูกปรับสูงสุด 120,000 บาท ถ้าโสเภณีอายุระหว่าง 15-18 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 1-3 ปี และโทษปรับสูงสุด 60,000 บาท บิดามารดาที่ยอมให้บุตรเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณีก็มีโทษตามกฎหมายเช่นกันและอาจถูกเพิกถอนสิทธิในฐานะบิดามารดา ผู้จัดหาเด็กเพื่อการค้าประเวณีมีโทษหนัก และหนักยิ่งขึ้นในกรณีที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มาตรา 287 ของประมวลกฎหมายอาญาห้ามการผลิต การจำหน่ายและการนำเข้า/ส่งออกวัสดุลามกอนาจารเด็ก และผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและ/หรือโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท

 ผลการสำรวจในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งองค์กรเอกชนและหน่วยงานรัฐมักนำมากล่าวอ้างอย่างกว้างขวาง ระบุว่ามีเด็กที่อาศัยอยู่ตามข้างถนนในเขตใจกลางเมืองใหญ่ๆ ประมาณ 20,000 คน อย่างไรก็ดี รัฐบาลและองค์กรเอกชนสามารถจัดหาที่พักพิงให้เด็กเพียง 5,000 คนในแต่ละปี โดยทั่วๆ ไป เด็กเหล่านี้จะถูกส่งไปที่บ้านพักที่รัฐบาลจัดให้ แต่มีรายงานว่าเด็กจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในที่พักพิงเหล่านั้นเนื่องจากกลัวว่าจะถูกกักตัวและเนรเทศออกนอกประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 บ้านพักของรัฐ 29 แห่งรับเด็กจำนวน 160 คน ในจำนวนนี้ 24 คนเป็นเด็กผู้หญิง มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในตอนท้าย รัฐบาลได้ส่งเด็กที่เป็นคนไทยไปศึกษาในโรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ หรือส่งกลับครอบครัวภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ส่วนเด็กที่มาจากประเทศอื่นๆ ได้ถูกส่งตัวกลับประเทศ

 เด็กที่อาศัยอยู่ข้างถนนมักไม่ได้รับการกล่าวถึงในรายงานของประเทศเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก และยอดตัวเลขของเด็กเหล่านี้ทั่วประเทศมักมีเฉพาะเด็กไทยเท่านั้น  

 การค้ามนุษย์ 

 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมสมบูรณ์มีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 และขยายคำจำกัดความของคำว่าการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมการค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานและการค้าผู้ชายด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดบทลงโทษรุนแรงสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และยังกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดมูลฐานเพื่อการดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้มีโทษเพิ่มขึ้นและมีการยึดทรัพย์ รัฐบาลดำเนินความพยายามต่อไปเพื่อนำพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการร่างระเบียบข้อบังคับราชการและการจัดฝึกอบรมในวงกว้าง

  ประเทศไทยเป็นทั้งแหล่ง ทางผ่าน และจุดหมายปลายทางสำหรับการค้ามนุษย์  มีรายงานว่ามีบุคคลถูกส่งมาค้าในไทยจากต่างประเทศ จากไทยไปต่างประเทศ ใช้ไทยเป็นทางผ่าน และเพื่อถูกค้าภายในประเทศ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการประมง โรงงาน การเกษตร การก่อสร้าง งานบ้าน และขอทาน ผู้หญิงและเด็กที่ถูกลักลอบนำเข้ามา (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) มักตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์ทางเพศ ผลการศึกษาและหลักฐานที่น่าเชื่อถือชี้ว่าการค้าผู้ชายเพื่อใช้แรงงานมีอยู่แพร่หลายโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ชาวต่างประเทศที่ถูกลักลอบนำมาค้าในไทยมีทั้งชาวพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีการกล่าวอ้างว่ามีการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กให้แก่ธุรกิจเช่น การประมงเพื่อการพาณิชย์และโรงงานผลิตอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาครและธุรกิจร้อยพวงมาลัย ในจำนวนคนงานในธุรกิจค้าประเวณีทั้งหมดประมาณ 200,000 – 300,000 คนทั่วประเทศ มีส่วนหนึ่ง (ซึ่งสหประชาชาติ องค์กรเอกชน และรัฐบาลคิดว่าเป็นส่วนน้อย) มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ถูกใช้งานโดยไม่สมัครใจ หรือไม่ก็ทำงานเพื่อหักล้างหนี้

 ภายในประเทศนั้น มีการนำผู้หญิงที่ยากจนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมาค้าให้ธุรกิจทางเพศ อย่างไรก็ตาม การค้าผู้หญิงในประเทศดูจะลดลง เนื่องจากโครงการป้องกัน ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปขายในบาห์เรน มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และฮ่องกง สถานทูตไทยยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปค้าในต่างประเทศต่อไป

 รายงานที่น่าเชื่อถือได้ระบุว่ามีชาวพม่าถูกล่อลวงมาค้าในไทยจากมาเลเซียโดยผ่านชายแดนภาคใต้ และในจำนวนผู้ที่ถูกนำมาค้าในไทยและถูกส่งกลับประเทศ มีชาวกัมพูชารวมอยู่ด้วย เหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกล่อลวงเข้ามาค้าในไทยหรือผ่านไทยไปยังประเทศอื่นๆ มักได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้ทำงานในร้านอาหาร สปา หรือทำงานตามบ้าน แต่แล้วก็จะถูกกดดันหรือใช้กำลังบังคับให้ค้าประเวณี

 การที่สตรีและเด็กชาวเขาบางรายไม่ได้รับสัญชาติไทยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์  แม้คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ แต่ก็มีสัดส่วนสูงในกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย 

 การค้ามนุษย์ภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้านมักดำเนินการโดยกลุ่มย่อยที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ และมักมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชนที่เป็นแหล่งสินค้า  ชาวพม่า ลาว กัมพูชาและไทยมีส่วนพัวพันในการค้าแรงงานตามชายแดน นักค้ามนุษย์มักใช้คนที่รู้จักกันเป็นผู้ช่วยหาเหยื่อ  ในบางกรณี ผู้ค้ามนุษย์ก็เคยตกเป็นเหยื่อมาก่อน โดยเฉพาะในธุรกิจทางเพศ 
 
 โสเภณีบางคนทำงานเพื่อใช้หนี้  เนื่องจากสตรีต่างชาติมักพูดภาษาไทยไม่ได้ จึงตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายและแสวงประโยชน์ได้ง่าย มีรายงานการค้ามนุษย์ซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มแรงงานพม่าและกัมพูชาซึ่งถูกหลอกว่าจะให้ทำงานในโรงงานผลิตอาหาร แต่ภายหลังกลับถูกล่อลวงหรือถูกส่งตัวไปทำงานบนเรือประมง ซึ่งบางกรณีต้องทำงานอยู่หลายปีในแต่ละครั้ง

 ในวันที่ 17 พฤษภาคม ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้บุกค้นบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งใช้เป็นโรงงานร้อยพวงมาลัย และช่วยเหลือเด็กหญิงและผู้หญิงชาวลาวจำนวน 19 คน อายุ 12-20 ปี ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ออกมา ตำรวจยังจับกุมเจ้าของโรงงงานสองคนในข้อหาค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก และให้ที่พักพิงแก่คนเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย เจ้าหน้าที่ได้ให้การดูแลคนเหล่านี้ในสถานพักพิงของรัฐ ต่อมาได้มีการถอนข้อกล่าวหาหลังจากนายจ้างยินยอมจ่ายเงินแก่คนงานเหล่านี้ ในเดือนกันยายน เหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้ได้เดินทางกลับลาว 

 ในเดือนสิงหาคม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งร่วมมือกับตำวจปราบปรามการค้ามนุษย์ของเวียดนามได้ช่วยหญิงเวียดนาม 8 คนจากการถูกบังคับค้าประเวณีในจังหวัดยะลา ผู้หญิงเหล่านี้กล่าวว่าพวกตนได้รับการบอกเล่าว่าจะได้ไปทำงานในร้านอาหารที่สิงคโปร์ แต่กลับถูกส่งมาไทยและบังคับให้ค้าประเวณี กรมสอบสวนคดีพิเศษจับกุมผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์หนึ่งราย เมื่อถึงปลายปี ผู้หญิงทั้ง 8 คนนี้ยังอยู่ในภายใต้การคุ้มกันและกำลังให้ความร่วมมือกับตำรวจ

 ในเดือนพฤศจิกายน ศาลอาญาตัดสินว่าจำเลย 2 คนมีความผิดในคดีค้ามนุษย์เพื่อใช้แรงงานที่โรงงานแปรรูปกุ้งอโนมาในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 อัยการกล่าวว่า จำเลยคนหนึ่งสารภาพผิดในบางข้อหา และถูกตัดสินจำคุก 5 ปีและถูกปรับ 1 ล้านบาท ส่วนจำเลยอีกคนหนึ่งปฏิเสธทุกข้อหา และถูกศาลตัดสินจำคุก 8 ปีและถูกปรับ 2 ล้านบาท

  ยังคงมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นช่วยคุ้มครองซ่องโสเภณีและสถานบริการทางเพศอื่นๆ จากการถูกบุกเข้าตรวจค้น ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้รับผลประโยชน์หรือปกป้องการกระทำดังกล่าว  รัฐบาลไม่ได้รายงานเกี่ยวกับการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
 
 กฎหมายกำหนดบทลงโทษสำหรับคดีค้ามนุษย์แตกต่างกันไปแล้วแต่อายุของผู้เสียหายและประเภทของนักค้ามนุษย์ ถ้าผู้กระทำผิดเป็นบุคคล และผู้เสียหายอายุมากกว่า 18 ปี กฎหมายระบุให้จำคุกตั้งแต่ 4 -10 ปีและปรับตั้งแต่  80,000-200,000 บาท ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษจำคุก 6-12 ปีและถูกปรับ 120,000-240,000 บาท และถ้าผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 15 ปี โทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 8-15 ปีและโทษปรับระหว่าง 160,000-300,000 บาท ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล กฎหมายกำหนดโทษปรับ 200,000 -1,000,000 บาท และผู้มีอำนาจของนิติบุคคลแห่งนั้นอาจมีโทษจำคุก 6-12 ปี และโทษปรับ120,000 – 240,000 บาท กฎหมายยังระบุโทษสำหรับผู้พยายามขัดขวางกระบวนการสอบสวนและการดำเนินคดีด้วย  
 
 พระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีข้าราชการจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการและช่วยประสานงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่เฉพาะในการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ แม้ว่าคดีดังกล่าวจะมีหน่วยงานอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบอยู่ด้วย ในปี พ.ศ. 2551 มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญพิเศษและรับผิดชอบในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนยุทธศาสตร์ และประสานงานเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ 11 ประเภท (รวมทั้งการค้ามนุษย์) กรมสอบสวนคดีพิเศษยังสอบสวนคดีพิเศษต่างๆ รวมทั้งคดีระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและจัดที่พักพิงให้เหยื่อค้ามนุษย์ รัฐบาลรายงานว่าในปี พ.ศ. 2551 ศูนย์พิทักษ์เด็กและสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียงแห่งเดียวสอบสวนผู้กระทำผิด 54 รายในคดีค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหาย 82 ราย ในจำนวนผู้เสียหายเหล่านี้มี 34 รายที่ถูกค้าเพื่อบังคับใช้แรงงานเด็ก และ 48 รายถูกค้าเพื่อธุรกิจค้าประเวณี

 ผู้เสียหายในดคีค้ามนุษย์ไม่สามารถถูกตั้งข้อหาในคดีที่เกี่ยวโยงกับคดีค้ามนุษย์ได้ เช่น ข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายถ้าผู้เสียหายถูกล่อลวงมาจากต่างประเทศ หรือข้อหาค้าประเวณีถ้าผู้เสียหายถูกบังคับ นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังได้รับที่พักพิงจากรัฐบาลด้วย บันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานรัฐบาลด้วยกัน ระหว่างจังหวัด และระหว่างรัฐบาลกับองค์กรเอกชนของไทยได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการของตำรวจโดยละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกนำมาค้าและถูกเจ้าหน้าที่คุมขังไว้  บันทึกดังกล่าวระบุว่าการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวในฐานะผู้ที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย  และแทนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศ คนเหล่านี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ รัฐบาลยังคงจัดการอบรมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การระบุชี้ผู้เสียหาย และบันทึกข้อตกลงที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตาม  การดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ และบันทึกข้อตกลงยังขาดความแน่นอนในบางครั้งโดยมีรายงานว่าเหยื่อค้ามนุษย์อยู่ในกลุ่มผู้ถูกส่งตัวกลับกัมพูชา

  โดยทั่วไป รัฐบาลให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการสืบสวนอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ รวมทั้งการค้ามนุษย์ ในวันที่ 24 เมษายน ไทยลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์กับพม่า เช่นเดียวกับที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกัมพูชา ลาว และเวียดนามมาแล้ว โดยทั่วๆ ไป ประเทศที่บุคคลถูกนำไปค้าจะเป็นผู้เริ่มกระบวนการสืบสวนก่อน กระทรวงการต่างประเทศช่วยผู้ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ชาวไทยและนำตัวกลับประเทศจำนวน 403 คนในช่วงเวลาเดียวกันกับปี พ.ศ. 2551
 
 กฎหมายไทยอนุญาตให้ส่งผู้กระทำผิดที่มีสัญชาติไทยไปรับการพิจารณาคดีในต่างประเทศตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือข้อตกลงต่างตอบแทนกับประเทศที่ร้องขอมา สำนักงานอัยการสูงสุดรายงานว่าไม่มีคนไทยถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในต่างประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนในคดีค้ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2552 อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ส่งบุคคลสัญชาติญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมัน บาห์เรน สาธารณรัฐประชาชนจีน สหราชอาณาจักร และและสหรัฐอเมริกา กลับประเทศเพื่อดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 

  องค์กรเอกชนของไทยและระหว่างประเทศหลายแห่งรวมทั้งหน่วยงานของรัฐยังคงทำงานร่วมกับผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ต่อไป ภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยึดแนวทาง “ความร่วมมือหลากหลายด้าน” เพื่อกำจัดการค้ามนุษย์ ความร่วมมือดังกล่าวรวมถึงการประสานงานในการบุกค้นสถานที่ต้องสงสัยและการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย รัฐบาลร่วมมือกับโครงการกำจัดการใช้แรงงานเด็กขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ในการดำเนินโครงการเพื่อลดการนำเด็กมาค้าเพื่อใช้แรงงานและเพื่อธุรกิจทางเพศ รัฐบาลพยายามจัดสรรงบประมาณก้อนใหม่เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ 

 โดยทั่วไป เหยื่อค้ามนุษย์ รวมทั้งที่ไม่ใช่คนไทยซึ่งรอการส่งตัวกลับประเทศจะได้เข้าพักในสถานพักพิงของรัฐบาล รวมทั้งสถานพักพิงแห่งใหม่อย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ตั้งขึ้นสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นชาย โดยทั่วไป เหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติไม่มีสิทธิขอใบอนุญาตทำงาน ซึ่งจะทำให้คนเหล่านี้สามารถออกมาทำงานนอกสถานพักพิงได้ แต่รัฐบาลได้พยายามพัฒนากลไกที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถทำเช่นนั้นได้เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอนุญาตให้คนเหล่านี้ทำงานในบางครั้ง รัฐบาลนำงานจากภายนอกมาให้เหยื่อค้ามนุษย์บางรายทำในสถานพักพิงโดยคนเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทน องค์กรเอกชนรายงานว่าเหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติในสถานพักพิงบางรายร้องเรียนว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการส่งตัวพวกตนกลับประเทศอย่างเร็วเพียงพอ ในปี พ.ศ. 2551 สถานที่พักพิงของรัฐ 8 แห่ง (สำหรับผู้หญิงและเด็ก) รับเหยื่อค้ามนุษย์ที่เป็นผู้หญิงและเด็กจำนวน 622 ราย ในจำนวนนี้ เป็นชาวต่างชาติที่ถูกล่อลวงมาค้าในไทย 520 ราย ชาวไทยที่ถูกค้าในประเทศ 58 ราย และชาวไทยที่ถูกล่อลวงไปค้าต่างประเทศ 44 ราย รัฐบาลจัดหาอาหาร บริการทางการแพทย์ ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และคำปรึกษาด้านจิตวิทยาให้คนเหล่านี้ แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลแน่นอนเกี่ยวกับระดับของความช่วยเหลือเหล่านี้ก็ตาม
 
เหยื่อค้ามนุษย์ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากองค์กรเอกชนและเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ในระดับหนึ่ง และโดยทั่วๆ ไป คนเหล่านี้จะได้รับแจ้งถึงสิทธิในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ค้ามนุษย์  เหยื่อค้ามนุษย์บางรายเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดี แม้ว่ามีหลายรายเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้นเนื่องจากไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ทางการ และกระบวนการทางกฎหมายใช้เวลานาน มีรายงานว่าเหยื่อค้ามนุษย์ต่างชาติบางรายพยายามไม่ให้ตัวเองถูกระบุว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพราะไม่ต้องการพักพิงอยู่ในสถานพักพิงของรัฐเป็นเวลานาน และต้องการถูกส่งตัวกลับประเทศมากกว่าเพราะจะได้หางานทำใหม่

รัฐบาลยังดำเนินความพยายามต่อไปเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และยังร่วมมือกับองค์กรเอกชนและอุตสาหกรรมท้องถิ่นต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการโรงแรม เพื่อสนับสนุนเยาวชน (โดยเฉพาะเด็กหญิง) ให้หางานประเภทอื่นนอกเหนือจากบริการทางเพศหรืองานที่ถูกแสวงประโยชน์อื่นๆ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพที่มีเป้าหมายให้การศึกษาแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงก็ได้รับเงินสนับสนุนด้วย  แม้ว่าการฝึกอบรมวิชาชีพไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์อย่างชัดแจ้ง  แต่ประโยชน์ที่ได้รับคือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการหางาน

รายงานการค้ามนุษย์ประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สามารถอ่านได้ที่ www.state.gov/g/tip

 บุคคลพิการ

 รัฐธรรมนูญห้ามการเลือกปฏิบัติด้านการศึกษาต่อผู้พิการทางร่างกายและจิตใจ และให้คนเหล่านี้มีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพและบริการอื่นๆ ของรัฐ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องอำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่สำหรับผู้พิการ  แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างคงเส้นคงวา นักเคลื่อนไหวยังคงพยายามขอแก้ไขกฎหมายที่ยินยอมให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการในการว่าจ้างเข้าทำงาน 

 ในเดือนกันยายน ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดีที่กรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (BTS) ถูกกล่าวหาว่าสถานีรถไฟฟ้าไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้าตามที่พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 กำหนดไว้ คำตัดสินของศาลระบุว่าได้มีการติดตั้งลิฟท์ที่สถานีรถไฟฟ้าแล้ว 5 แห่งและกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจสถานีอีก 18 แห่ง

 ผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทางราชการมีสิทธิได้รับบริการตรวจโรค รถเข็น และไม้ยันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รัฐบาลให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยห้าปีแก่ผู้พิการที่ดำเนินธุรกิจขนาดย่อม

 มีศูนย์ฟื้นฟูของชุมชนสองแห่งในแต่ละจังหวัดใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการนำร่องเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยพิเศษสำหรับผู้พิการได้ขยายเพิ่มขึ้นจากจังหวัดขอนแก่น
ไปยังอีกสี่จังหวัดได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ นครปฐม และตรัง นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานมหกรรมต้นแบบคนพิการไทยในเดือนกรกฎาคมด้วย
 
 รัฐบาลมีโรงเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนพิการ 43 แห่ง กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่ามีศูนย์การศึกษาพิเศษสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน 76 แห่ง จังหวัดละหนึ่งแห่ง และมีโรงเรียนประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศที่เปิดสอนนักเรียนธรรมดาและนักเรียนพิการร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับผู้พิการที่ดำเนินการโดยรัฐบาล 9 แห่ง และดำเนินการโดยเอกชน 23 แห่ง ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดบริการทั้งแบบเต็มเวลาและบางช่วงเวลาหรือตามฤดูกาล มีบ้านพักผู้พิการที่ดำเนินการโดยรัฐ 10 แห่ง อีกทั้งมีสมาคมเอกชนที่ให้การฝึกอบรมแก่ผู้พิการเป็นครั้งคราว มีรายงานว่าโรงเรียนบางแห่งไม่ยอมรับเด็กพิการเข้าศึกษา แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะโรงเรียนไม่มีสถานที่และอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับเด็กพิการ
 
 คนพิการจำนวนมากที่หางานทำได้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติด้านค่าจ้างแรงงาน  องค์กรเอกชนระบุว่ากฎหมายกำหนดให้บริษัทเอกชนว่าจ้างผู้พิการ 1 คนต่อพนักงาน 200 คน หรือไม่ก็บริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อประโยชน์ต่อผู้พิการ แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทางการประมาณตัวเลขว่าบริษัทห้างร้านถึงร้อยละ 50 ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ในขณะที่ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเชื่อว่าตัวเลขอยู่ระหว่างร้อยละ 40-50  รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็มีนโยบายการจ้างงานที่เลือกปฏิบัติ

 ชนกลุ่มน้อยทางสัญชาติ/เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์

 คนสองกลุ่มคือ อดีตทหารในสงครามกลางเมืองของจีนและลูกหลานที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง และลูกของผู้อพยพชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ภายใต้กฎหมายและกฎข้อบังคับที่จำกัดการเดินทาง ที่อยู่อาศัย การศึกษาและอาชีพของคนเหล่านี้ กฎหมายกำหนดให้ชาวจีนเหล่านี้อาศัยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน กระทรวงมหาดไทยระบุว่าไม่มีใครได้รับสัญชาติไทยในช่วงปี พ.ศ. 2552

 คนพื้นเมือง

 ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทยยังคงถูกจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประสบความยากลำบากในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานซึ่งรวมถึงข้อกำหนดอัตราแรงงานขั้นต่ำ นอกจากนั้น ยังถูกกีดกันจากสวัสดิการของรัฐ เช่น โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

 พระราชบัญญัติสัญชาติปี พ.ศ. 2551 ให้สิทธิการขอสัญชาติแก่ชาวเขาบางกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสิทธิ (ดูหมวดที่ 2 ง.) แม้รัฐบาลจะสนับสนุนความพยายามในการอนุมัติสัญชาติและให้ความรู้ชาวเขาเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ แต่นักเคลื่อนไหวรายงานว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวางและการปฏิบัติงานที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล ซึ่งทำให้คำร้องขอสัญชาติต้องคั่งค้างและถูกปฏิเสธอย่างไม่สมควร
 
  ชาวเขายังคงเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม เนื่องมาจากความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่าชาวเขามักจะเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม 
  
การถูกเลือกปฏิบัติทางสังคมและการกระทำที่รุนแรงเนื่องจากรสนิยมทางเพศและเอกลักษณ์ทางเพศ

 ไม่มีกฎหมายใดที่ระบุให้รสนิยมทางเพศเป็นความผิดทางอาญา โดยทั่วไปองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับหญิงรักหญิง ชายรักชาย ไบเซ็กช่วล และสตรีข้ามเพศสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเสรี องค์กรเหล่านี้สามารถจดทะเบียนกับรัฐบาล แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับชื่อที่ใช้ในการจดทะเบียน องค์กรเหล่านี้รายงานว่าเมื่อคนกลุ่มนี้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ตำรวจจะปฏิบัติต่อพวกเขาเช่นคนปกติ แต่ในกรณีที่เป็นอาชญากรรมทางเพศ ตำรวจมักมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญน้อยลงหรือไม่เห็นเป็นเรื่องจริงจัง

 ความพยายามในการจัดขบวนพาเหรดชายรักชายที่เชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ต้องประสบความล้มเหลวเนื่องจากขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลและการต่อต้านจากสังคม เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุขระงับการอนุญาตให้จัดงาน สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติประท้วงการจัดงานและประณามผู้จัดในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความคุ้มครองอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการเผชิญหน้า

 การเลือกปฏิบัติเนื่องจากรสนิยมทางเพศและเอกลักษณ์ทางเพศยังมีอยู่ สภากาชาดไทยไม่ยอมรับบริจาคเลือดจากชายรักร่วมเพศ บริษัทประกันชีวิตบางแห่งปฏิเสธที่จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตแก่คนเหล่านี้ แหล่งข่าวในกองทัพระบุว่ากองทัพไม่ยอมเกณฑ์ชายรักร่วมเพศหรือชายที่มีจิตใจเป็นหญิงเข้าเป็นทหาร เนื่องจากสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจะมีผลกระทบต่อความเข้มแข็ง ภาพลักษณ์และระเบียบวินัยของกองทัพ เอกสารของกองทัพระบุเหตุผลอย่างเป็นทางการของการปฏิเสธว่า “ประเภท 3- อาการป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายภายใน 30 วัน” แทนที่จะระบุว่า “ประเภท 4- มีความพิการถาวรหรือผิดปกติทางจิต” เช่นที่เคยทำ กฎหมายไม่อนุญาตให้คนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วเปลี่ยนการระบุเพศของตนในเอกสารประจำตัว ธุรกิจใหญ่ๆ บางแห่งไม่อนุญาตให้ผู้มีจิตใจข้ามเพศใช้ห้องน้ำตามที่ตนต้องการ องค์กรเอกชนอ้างว่าไนท์คลับ บาร์ โรงแรม และโรงงานบางแห่งไม่ยอมให้ชายรักร่วมเพศ หญิงรักร่วมเพศ และชายที่จิตใจเป็นหญิงเข้าไปในสถานที่ของตน รวมทั้งปฏิเสธที่จะรับบุคคลเหล่านี้เข้าทำงาน

 ในเดือนธันวาคม กลุ่มอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏปฏิเสธคำขอจากเครือข่ายสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยที่ร้องขอให้นักศึกษาที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหญิงในพิธีรับปริญญาบัตรได้

 การใช้ความรุนแรงหรือเลือกปฏิบัติทางสังคม
 
 บุคคลที่ติดเชื้อเอ็ชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องเผชิญกับปัญหาด้านจิตใจเนื่องจากถูกปฏิเสธจากครอบครัว มิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และชุมชนแม้ว่าการรณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ชุมชนอาจช่วยบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวได้บ้างในบางส่วน มีรายงานว่านายจ้างบางรายปฏิเสธที่จะจ้างพนักงานที่ตรวจพบว่ามีเชื้อเอ็ชไอวีระหว่างการตรวจเลือดก่อนเข้าทำงานตามที่นายจ้างกำหนด สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ ระบุว่ามีบริษัทประมาณ 6,630 แห่งที่สัญญาว่าจะไม่กำหนดให้พนักงานต้องตรวจเลือดหาเชื้อเอ็ชไอวี/เอดส์ หรือปลดพนักงานที่ติดเชื้อออก พร้อมทั้งสัญญาว่าจะจัดโครงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีบริษัท 989 แห่งเข้าร่วมในช่วงปี พ.ศ. 2552 ในเดือนธันวาคม มีการประกาศในวันเอดส์โลกว่ารัฐบาลได้กำหนดให้การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวาระแห่งชาติ และจะแจกจ่ายถุงยางอนามัยจำนวน 30 ล้านชิ้นแก่ประชาชนทุกคน รวมทั้งผู้ทำงานบริการทางเพศ

 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสอบสวนคำร้องในเดือนกันยายนเกี่ยวกับวัดพระบาทน้ำพุ ซึ่งเป็นสถานพักพิงของผู้ป่วยโรคเอดส์ระยะสุดท้ายจำนวนมาก นักเคลื่อนไหวด้านโรคเอดส์ไม่เห็นด้วยกับการที่วัดนำร่างผู้เสียชีวิตมาวางในที่สาธารณะเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ แม้ว่าเจ้าหน้าที่วัดจะกล่าวว่าได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยแล้ว เมื่อถึงปลายปี กรณีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
 
หมวดที่ 6 สิทธิของคนงาน

 ก. สิทธิในการตั้งสมาคม

 กฎหมายอนุญาตให้คนงานภาคเอกชนทุกคนก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงานใดๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการล่วงหน้า  อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นไปอย่างคงเส้นคงวา ในหลายกรณี พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานไม่ได้ให้ความคุ้มครองเพียงพอแก่ลูกจ้างที่เข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน กฎหมายอนุญาตให้สหภาพแรงงานดำเนินกิจกรรมได้โดยรัฐบาลไม่เข้าแทรกแซง นอกจากนี้ กฎหมายยังอนุญาตให้คนงานหยุดงานประท้วง และในทางปฏิบัติ ก็มีการใช้สิทธิ์ดังกล่าว

 กฎหมายห้ามข้าราชการพลเรือน รวมทั้งครูประจำโรงเรียนของรัฐ ทหารและตำรวจ จัดตั้งหรือจดทะเบียนสหภาพแรงงาน สมาคมเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการต่อรองแบบรวมกลุ่ม นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและข้าราชการพลเรือนบางส่วนตีความรัฐธรรมนูญปี
พ.ศ. 2550 ว่าขยายเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมให้ครอบคลุมถึงการให้เสรีภาพข้าราชการพลเรือนในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แม้จะมีความพยายามจากข้าราชการพลเรือนกลุ่มเล็กๆ ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แต่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายด้านแรงงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุญาตให้ข้าราชการทำเช่นนั้นได้

 พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายจำกัดการเกี่ยวข้องระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชน การติดต่ออย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกับสหภาพแรงงานภาคเอกชนยังดำเนินต่อไป และรัฐบาลก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้  โดยทั่วไปสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจจะทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลและองค์กรอื่น ๆ 

 แรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จดทะเบียนแล้วหรืออาศัยอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมายไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วอาจเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่จัดตั้งและบริหารโดยคนไทย  และมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ทำเช่นนั้นแต่มีจำนวนเพียงเล็กน้อยมากเนื่องจากมีอุปสรรคด้านภาษาและแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยมักทำงานคนละภาคอุตสาหกรรม มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากทำงานในโรงงานใกล้กับจุดผ่านแดน ซึ่งมีการละเมิดกฎหมายแรงงานอยู่เป็นประจำ และไม่ค่อยมีการตรวจสอบว่าโรงงานเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

 แรงงานทั่วประเทศมีจำนวน 39.3 ล้านคน น้อยกว่าร้อยละ 2 ของแรงงานทั่วประเทศ แต่เกือบร้อยละ 10 ของคนงานภาคอุตสาหกรรมและกว่าร้อยละ 59 ของคนงานรัฐวิสาหกิจเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 44 แห่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 175,000 คน และมีสหภาพแรงงานของเอกชน 1,229 แห่งประกอบด้วยสมาชิก 341,520 คน สหภาพแรงงานของเอกชนมีจำนวนลดลง แต่จำนวนสมาชิกกลับเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 คน

 คนงานอาจถูกไล่ออกด้วยเหตุผลใดก็ได้ แต่ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อเลิกจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องรับพนักงานดังกล่าวเข้าทำงานตามเดิม และนายจ้างก็ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างเสมอไป  ในบางกรณี ศาลแรงงานได้สั่งให้นายจ้างบรรจุลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิมเมื่อพบว่าพนักงานถูกไล่ออกเนื่องจากร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการบรรจุพนักงานเข้าทำงานใหม่ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสำหรับนายจ้าง กรณีส่วนใหญ่จึงมักตกลงกันได้นอกศาลโดยลูกจ้างได้รับเงินชดเชย และนายจ้างไม่ต้องถูกมาตรการลงโทษใดๆ

 ในช่วงปลายปี น.ส. จิตรา คชเดช ผู้นำสหภาพแรงงานซึ่งแพ้คดีฟ้องร้องต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลที่ไล่เธอออกโดยไม่มีความผิดในปี พ.ศ. 2551 ยังคงรอผลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
 
 ในเดือนมิถุนายน บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลวางแผนปลดพนักงานเกือบ 2,000 คน ในบริษัทในเครือแห่งหนึ่ง โดยอ้างสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความต้องการที่ลดลง ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามของบริษัทในการกำจัดสมาชิกสหภาพแรงงานที่ชอบเคลื่อนไหว ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายคนที่ประท้วงการที่บริษัทไล่ น.ส.จิตราออกในปี พ.ศ. 2551 หลังการประท้วงนอกทำเนียบรัฐบาลในเดือนสิงหาคม สื่อมวลชนรายงานว่ามีการออกหมายจับแกนนำการประท้วง 3 คนรวมทั้ง น.ส. จิตรา ในข้อหาชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ขัดขวางคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยุยงให้เกิดความไม่สงบ และกีดขวางการจราจร ในช่วงกลางเดือนตุลาคม พนักงานที่ถูกเลิกจ้างย้ายไปประท้วงที่กระทรวงแรงงานและอยู่ที่นี่จนถึงปลายปี ในเดือนธันวาคม ศาลแรงงานสมุทรปราการได้ยกฟ้องคดีที่พนักงานซึ่งถูกเลิกจ้างฟ้องร้องขอเงินชดเชยเพิ่มเติม หนังสือพิมพ์รายงานว่าศาลให้เหตุผลว่าพนักงานได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานแล้ว และการเลิกจ้างนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากการที่บริษัทไทรอัมพ์ขาดทุน ดังนั้น ข้อตกลงในปี พ.ศ. 2542 ที่ระบุให้จ่ายเงินชดเชยมากขึ้นในกรณีที่การเลิกจ้างเป็นผลจากการปรับโครงสร้างการประกอบการจึงใช้ไม่ได้ในกรณีนี้ พนักงานมีแผนการที่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อไป

 รัฐบาลมีอำนาจห้ามภาคเอกชนก่อการประท้วงในกรณีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนโดยรวม  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใช้อำนาจนี้น้อยมาก และไม่ได้นำมาใช้เลยในช่วงปี
กฎหมายแรงงานยังห้ามกลุ่มที่ให้ “บริการที่จำเป็นแก่ประชาชน” ก่อการประท้วง โดยรัฐบาลให้คำจำกัดความกลุ่มดังกล่าวกว้างกว่าเกณฑ์ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดไว้ และครอบคลุมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โทรคมนาคม การไฟฟ้า การประปา และการขนส่งมวลชน  กฎหมายห้ามการเลิกจ้างผู้ที่ทำการประท้วงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  แต่มีนายจ้างบางคนที่แกล้งมอบหมายงานที่ไม่ดี ลดชั่วโมงการทำงานและลดโบนัสเพื่อเป็นการลงโทษผู้ประท้วง  กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างมีสิทธิจ้างคนมาทำงานแทนผู้ประท้วง 
การประท้วงในภาคเอกชนถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายที่กำหนดให้เรียกประชุมทั่วไปสมาชิกสหภาพแรงงาน และการประท้วงจะต้องได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกร้อยละ 50 ในช่วงปี พ.ศ. 2552 มีการประท้วงหยุดงานของพนักงานบริษัทรถยนต์ต่างประเทศ โดยทั่วไป เป็นการประท้วงหลังจากการเจรจาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ มีกรณีหนึ่งเป็นอย่างน้อยที่ระหว่างที่มีการเจรจา ฝ่ายบริหารของบริษัทขู่ว่าจะปิดโรงงานชั่วคราว โดยอ้างว่าคนงานทำให้รถที่กำลังผลิตอยู่เกิดความเสียหาย

 กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ห้ามนายจ้างปิดกิจการชั่วคราวเพื่อต่อรองกับพนักงาน และห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจประท้วง อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งที่พนักงานรัฐวิสาหกิจกลุ่มใหญ่นัดลาป่วยและลาพักร้อน ซึ่งทำให้การดำเนินกิจการต้องหยุดชะงักลง แต่ไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับพนักงานเหล่านี้

 ในเดือนมิถุนายน สมาชิกสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยกว่า 200 คนไม่มาทำงาน ซึ่งทำให้บริการรถไฟต้องหยุดชะงักลง สมาชิกสหภาพฯ เหล่านี้ประท้วงข้อเสนอที่ให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งทางสหภาพฯ มองว่าเป็นความพยายามที่จะแปรรูปองค์กร ในเดือนตุลาคม สมาชิกสหภาพฯ หยุดเดินรถไฟในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลาหลายวัน โดยโฆษกสหภาพฯ คนหนึ่งให้เหตุผลว่าเป็นห่วงสวัสดิภาพของผู้โดยสาร เนื่องจากก่อนหน้านี้มีขบวนรถไฟตกรางทำให้มีผู้เสียชีวิต และมีการการกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงานของสหภาพฯ 

 ในช่วงปี พ.ศ. 2551 มีกรณีพิพาทด้านแรงงาน 56 กรณี ในจำนวนนี้เกิดขึ้นนอกกรุงเทพฯ 48 กรณี มีรายงานว่ามีนายจ้าง 4 รายปิดกิจการชั่วคราวเพื่อตอบโต้คนงานที่ประท้วง และมีการหยุดงานประท้วง 11 ครั้ง

 ข. สิทธิในการจัดตั้งองค์กรและการร่วมเจรจาต่อรองแบบรวมกลุ่ม

 กฎหมายรับรองสิทธิของลูกจ้างภาคเอกชนในการจัดตั้งองค์กรและดำเนินการร่วมเจรจาต่อรอง   อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวว่าความพยายามของรัฐบาลที่จะคุ้มครองสิทธิดังกล่าวยังมีน้อย  กฎหมายกำหนดกลไกสำหรับการร่วมเจรจาต่อรองดังกล่าว รวมทั้งขั้นตอนการไกล่เกลี่ยและตัดสินกรณีพิพาทที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ในทางปฏิบัติ มีการร่วมเจรจาต่อรองอย่างแท้จริงเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานเพียงไม่กี่แห่ง อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทจำนวนมากสามารถตกลงกันได้

 กฎหมายห้ามนายจ้างใช้มาตรการต่อต้านสหภาพแรงงาน แต่กำหนดว่าสมาชิกสหภาพแรงงานต้องเป็นลูกจ้างเต็มเวลาของบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้ลูกจ้างอาจถูกรังแกโดยนายจ้างที่ต้องการลงโทษลูกจ้างที่มีตำแหน่งในสหภาพฯ หรือพยายามก่อตั้งสหภาพฯ ข้อจำกัดดังกล่าวยังเป็นการห้ามเจ้าหน้าที่ทำงานประจำกับสหภาพฯ ด้วย ซึ่งเป็นการควบคุมสหภาพฯ ไม่ให้เข้มแข็งหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ยังอนุญาตให้สหภาพแรงงานมีที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลนอกองค์กรและได้รับอนุญาตจากรัฐเพียง 2 คน  และนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานอ้างว่าสำนักงานท้องถิ่นของกระทรวงแรงงานมักกีดกันบุคคลที่เห็นว่าชอบเคลื่อนไหวมากเกินไปจากการจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาด้านแรงงาน  ผู้นำสหภาพฯ และผู้สังเกตการณ์ภายนอกร้องทุกข์ว่าข้อจำกัดนี้ขัดขวางความสามารถในการฝึกเจ้าหน้าที่สหภาพฯ และพัฒนาความเชี่ยวชาญในการร่วมเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนตัวผู้นำสหภาพฯ บ่อยครั้ง

 มีรายงานว่านายจ้างมักเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างที่พยายามก่อตั้งสหภาพฯ  กฎหมายไม่ได้คุ้มครองลูกจ้างจากการถูกนายจ้างแก้แค้นถ้าลูกจ้างเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานก่อนมีการจดทะเบียนสหภาพฯ และนายจ้างอาจใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้สกัดกั้นความพยายามในการจัดตั้งสหภาพฯ นายจ้างใช้ช่องว่างในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เพื่อไล่ผู้นำสหภาพออกจากงานก่อนที่รัฐบาลจะให้การรับรองสหภาพ ในช่วงปี มีรายงานคนงานถูกไล่ออกเพราะร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงานหลายราย ในบางกรณี ศาลสั่งให้นายจ้างรับคนงานเข้าทำงานตามเดิมถ้าพิสูจน์แล้วว่าสาเหตุของการไล่ออกไม่เป็นความจริง

 ระบบศาลแรงงานทำหน้าที่พิจารณาคดีแรงงานในภาคเอกชนเกือบทุกเรื่องที่กฎหมายแรงงานครอบคลุม อย่างไรก็ดี มีรายงานของการฉ้อฉลภายในระบบ ปัญหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านแรงงานโดยส่วนรวมได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไตรภาคี และจะมีศาลแรงงานเป็นผู้ทบทวน คนงานอาจร้องทุกข์ได้โดยผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กฎหมายให้อำนาจกระทรวงแรงงานในการส่งเรื่องพิพาทด้านแรงงานของภาคเอกชนไปให้กลุ่มที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยนอกเหนือจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์  แม้จะไม่ค่อยมีการใช้อำนาจทางกฎหมายนี้เท่าใดนัก แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศก็พิจารณาว่าระเบียบนี้เป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับงานบริการสำคัญที่กำหนดไว้เท่านั้น 

 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ไขปัญหาที่พนักงานรัฐวิสาหกิจร้องทุกข์  โดยทั่วไปแล้ว  ผู้นำแรงงานพอใจกับการแก้ปัญหาโดยองค์กรเหล่านี้  แม้จะมีคำร้องเรียนว่าผู้นำสหภาพแรงงานที่ถูกไล่ออกโดยไม่เป็นธรรมได้รับเพียงเงินเดือนย้อนหลัง แต่นายจ้างไม่ได้ถูกลงโทษแต่อย่างใด  เรื่องนี้ทำให้นายจ้างไม่ค่อยยับยั้งชั่งใจที่จะไล่ผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานและนักเคลื่อนไหวออก

  บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานได้ใช้ “ระบบการทำสัญญาแรงงาน” โดยคนงานจะเซ็นสัญญาเป็นรายปี แม้คนงานที่ทำสัญญารายปีจะทำงานประเภทเดียวกันกับคนงานที่ได้รับการว่าจ้างโดยตรง แต่กลับได้รับค่าจ้างน้อยกว่าและได้รับสวัสดิการพิเศษอื่นๆ เพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่ได้เลย คนงานที่ทำสัญญารายปีได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 กำหนดให้บริษัทต้องให้ “ผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างยุติธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” แก่คนงานประเภทนี้ ไม่ว่าคนงานที่ทำสัญญานี้จะถูกจ้างจากภายนอกและได้รับค่าจ้างจากอีกบริษัทหนึ่งหรือไม่ก็ตาม บริษัทที่ทำสัญญาถือเป็นนายจ้าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานไม่ได้บัญญัติความหมายของคำว่าผลประโยชน์และสวัสดิการอย่างชัดเจน มีการยื่นฟ้องต่อศาลหลายคดีในความพยายามหาคำจำกัดความเกี่ยวกับข้อปฎิบัติภายใต้กฎหมายใหม่นี้ แต่เมื่อถึงสิ้นปี คดียังไม่ได้รับการตัดสิน

 ไม่มีกฎหมายพิเศษหรือข้อยกเว้นจากกฎหมายแรงงานปกติสำหรับเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวหาว่ามีการจัดตั้งสมาคมนายจ้างขึ้นเพื่อช่วยกันกีดกันไม่ให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานในเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้  ในนิคมอุตสาหกรรมพิเศษ การจัดตั้งสหภาพแรงงานถือเป็นเรื่องปกติสามัญในบริษัทต่างชาติ
  
 ค. การห้ามการบังคับใช้แรงงาน

 รัฐธรรมนูญห้ามการบังคับใช้แรงงาน ยกเว้นในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เกิดสงคราม หรือมีการประกาศกฎอัยการศึก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ระบุให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นอาชญากรรม รวมทั้งการบังคับใช้แรงงาน อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิผลในภาคธุรกิจที่ไม่เป็นทางการขนาดใหญ่

 ตามปกติ นายจ้างมักเก็บเอกสารการจดทะเบียนและเอกสารเดินทางของแรงงานต่างด้าวไว้  ซึ่งเป็นการจำกัดการเดินทางออกนอกสถานที่ทำงานของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้  นายจ้างอ้างว่าทำเช่นนั้นเพื่อเป็นการรับประกันว่าแรงงานต่างด้าวจะจ่ายเงินที่กู้ยืมจากตนไปเพื่อการทำเอกสารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับโรงงานเถื่อนหรือการกดขี่แรงงานในไร่ปศุสัตว์ เรือประมง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานเสื้อผ้า และโรงงานแปรรูปกุ้ง ซึ่งนายจ้างห้ามคนงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวออกนอกสถานที่ ไม่มีการประมาณตัวเลขว่ามีโรงงานหรือโรงงงานเถื่อนประเภทนี้อยู่เท่าใด แต่เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวชาวพม่า กัมพูชา และลาวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิเช่นนี้ได้ง่าย

 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ตำรวจช่วยเหลือเด็กหญิงชาวลาว 3 คนและจับกุมชาวไทย 3 คนในข้อหาทารุณและใช้แรงงานเด็ก เด็กหญิงเหล่านี้ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านในจังหวัดสมุทรปราการเป็นเวลา 2 ปีก่อนได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจ เด็กหญิงเหล่านี้ถูกนายจ้างตีหรือเอาไฟจี้เมื่อไม่พอใจ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ผู้ต้องหา 1 รายถูกตัดสินจำคุก 1 ปีและปรับ 12,500 บาท และผู้ต้องหาอีกรายหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนและปรับ 7,500 บาท ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ผู้กระทำความผิดรายที่ 3 ถูกตัดสินจำคุก 5 เดือน ปรับ 7,350 บาทและต้องทำงานบริการชุมชน
 
 ในปี พ.ศ. 2550 ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 4 รายในคดีสังหารแรงงานชาวกะเหรี่ยงรายหนึ่งขณะพยายามหลบหนีออกจากโรงงานที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยชาวกะเหรี่ยงผู้นี้อ้างว่าถูกนายจ้างบังคับใช้แรงงานและทารุณร่างกาย  นายศราวุธ อายุเคน เจ้าของโรงงานถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและจัดหางานและให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในวันที่ 10 สิงหาคม ศาลพิพากษาประหารชีวิตนายศราวุธ นายศราวุธได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในวันที่ 6 พฤศจิกายน ศาลยกฟ้องผู้ต้องหาอีกสองรายซึ่งเป็นชาวกัมพูชา และรัฐบาลได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ผู้ต้องหาเหล่านี้ยังอยู่ในเรือนจำเพื่อรอคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

 ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจากหลายหน่วยงานได้ร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการช่วยเหลือชาวพม่า 18 คนที่ถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงที่จังหวัดชลบุรีและจับผู้ต้องหาได้ 3 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายถูกตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ส่วนอีก 2 รายถูกตั้งข้อหาพยายามให้สินบนเจ้าหน้าที่

 ปัญหาที่คนไทยซึ่งทำงานในต่างประเทศต้องประสบอยู่คือปัญหาของการเรียกเก็บค่าหัวคิวอย่างผิดกฎหมายจากบริษัทจัดหาแรงงานซึ่งคิดค่าหัวคิวเป็นจำนวนเงินเท่าๆ กับรายได้ของคนงานในปีแรกและปีที่สองรวมกัน มีหลายกรณีที่คนงานไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามที่สัญญาระบุไว้ และทำให้เกิดหนี้สินจำนวนมาก ธนาคารในประเทศมีส่วนในเรื่องนี้ โดยการเสนอเงินกู้จำนวนมากให้คนงานเพื่อจะได้มีเงินจ่ายค่าหัวคิว ซึ่งอยู่ระหว่าง 300,000 – 1,000,000 บาทสำหรับคนที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ กรมการจัดหางานได้ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับค่าหัวคิวสูงสุดที่สามารถเรียกเก็บได้ เพื่อรับประกันว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ดี การบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องยาก
 
 ง. การห้ามใช้แรงงานเด็กและเกณฑ์อายุต่ำสุดของการจ้างงาน

 โดยทั่วไป  เด็กในภาคเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเพียงพอ  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายหลักที่กำกับดูแลการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี  กฎหมายห้ามการจ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปีที่บิดามารดาอนุญาตให้ทำงานภาคเกษตรในช่วงปิดภาคเรียนหรือหลังเลิกเรียนตราบใดที่นายจ้างจัดสภาพการทำงานที่ปลอดภัยให้ กฎหมายห้ามนายจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด และทำงานระหว่าง 22.00 น. ถึง 6.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน  กฎหมายห้ามการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้ทำงานที่อันตราย ซึ่งรวมถึงงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลหะ สารเคมีอันตราย วัสดุมีพิษ รังสี และอุณหภูมิหรือระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
การสัมผัสกับจุลินทรีย์ที่มีพิษ การใช้อุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก การทำงานใต้ดินหรือใต้น้ำ การทำงานในสถานที่ที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ หรืองานในสถานอาบอบนวด โทษสูงสุดสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวคือโทษจำคุกหนึ่งปี หรือโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการเช่น การประมงและงานรับใช้ตามบ้าน กฎหมายอนุญาตให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อใช้กับภาคเศรษฐกิจที่กฎหมายครอบคลุมไม่ถึง โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้ขยายความคุ้มครองสำหรับเด็กที่ทำงานตามบ้านและภาคเกษตรกรรม 

 แรงงานเด็กยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขยายการศึกษาภาคบังคับออกไปเป็น 12 ปีและการที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบ และตำราเรียน น่าจะทำให้แรงงานเด็กมีจำนวนลดลง ผลการศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศชี้ว่าการบังคับใช้แรงงานเด็กมีจำนวนลดลง และเด็กเหล่านี้มีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของแรงงานทั้งหมด

 ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกระทรวงแรงงานชี้ว่ามีเด็กอายุระหว่าง 15 -17 ปีประมาณ 2,065 คนที่กำลังทำงานอยู่อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแรงงานเด็กทั้งหมด ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย น่าจะสูงกว่านี้มากถ้านับรวมถึงแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและแรงงานเด็กต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียน องค์กรเอกชนรายงานว่าร้อยละ 2-4 ของเด็กอายุระหว่าง 6 - 14 ปีทำงานอยู่ในเมืองอย่างผิดกฎหมาย และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายแรงงาน

 เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทำงานอยู่ในเมืองส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ตามปั๊มน้ำมัน อุตสาหกรรมขนาดย่อมและร้านอาหาร ยังมีเด็กขอทานและเด็กขายดอกไม้อยู่ทั่วไป ไม่มีหลักฐานมากนักเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในโรงงานที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกขนาดใหญ่ องค์กรเอกชนยังรายงานว่ามีการใช้แรงงานเด็กในโรงงานผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งที่ตั้งอยู่ตามชายแดนพม่าด้านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  อย่างไรก็ดี  ไม่มีการสำรวจการใช้แรงงานเด็กทั่วประเทศอย่างทั่วถึง เนื่องจากองค์กรเอกชนไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจตามโรงงานที่ตั้งอยู่ในห้องแถว  องค์กรเอกชนรายงานว่าเด็กที่ทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวจากพม่า กัมพูชาและลาว และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะถูกแสวงประโยชน์มากขึ้น

 ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าแม้เด็กขอทานและเด็กขายดอกไม้จะมีจำนวนลดลง แต่ยังมีเด็ก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ) ถูกแสวงหาประโยชน์โดยให้ขายสินค้าตามถนน เป็นขอทาน ทำงานรับใช้ตามบ้าน ทำงานเกษตร และทำงานเป็นโสเภณีในเขตตัวเมือง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการทำงานล้างหนี้ มีรายงานว่ามีเด็กข้างถนนที่ถูกซื้อ ถูกเช่า หรือถูก “ขอยืม” โดยวิธีการบังคับจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเพื่อให้มาขอทานอยู่กับผู้หญิงตามถนน 

 กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับแรงงานเด็ก โดยทั่วไป ผู้ตรวจการของกระทรวงแรงงานมักทำงานในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก และตามปกติจะดำเนินการต่อเมื่อมีการร้องทุกข์ หรือได้รับรายงานจากอาจารย์ว่านักเรียนหายตัวไป หรือเมื่อเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น และเมื่อมีผู้ละเมิดในกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่มักขอให้ผู้ละเมิดให้สัญญาว่าจะปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้นแทนที่จะดำเนินคดีและลงโทษ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่นิยมกันทั่วไป การที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายค้นคืออุปสรรคในการเข้าตรวจตามบ้านเรือนเพื่อดูแลสวัสดิภาพของเด็กรับใช้ตามบ้าน 

 จ. สภาพการทำงานที่ยอมรับได้

อัตราค่าแรงขั้นต่ำกำหนดไว้ที่ 150 ถึง 203 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับระดับค่า
ครองชีพในแต่ละจังหวัด  ค่าจ้างดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมสำหรับคนงานและครอบครัว คณะกรรมการไตรภาคีของจังหวัดเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

 รัฐบาลเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ส่วนอัตราเงินเดือนสำหรับข้าราชการพลเรือนนั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ข้าราชการ
พลเรือน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงหรือกรมมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดทำระดับเงินเดือนข้าราชการพลเรือน

 กระทรวงแรงงานมีหน้าที่ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำ  (ใช้กับภาคแรงงานที่เป็นทางการ) อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยค่าแรงขั้นต่ำยังมีความสับสนอยู่ แรงงานบางส่วนในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการทั่วประเทศได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉพาะแรงงานในต่างจังหวัด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว อย่างไรก็ดี แรงงานต่างด้าวทั้งแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือจำนวนมากทำงานแลกค่าจ้างซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ    

 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานกำหนดเวลาทำงานตายตัวขึ้น คือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามกฎหมายแล้ว ลูกจ้างที่ต้องทำงาน “เสี่ยงอันตราย” เช่น ในอุตสาหกรรมเคมี เหมืองแร่หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรหนัก ห้ามทำงานเกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และห้ามทำงานล่วงเวลา  พนักงานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีห้ามทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน และทำงานต่อเนื่องได้ไม่เกิน 28 วัน

 ในปี พ.ศ. 2551 มีรายงานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในอุตสาหกรรม 176,502 ราย ในจำนวนนี้ เป็นการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย (ลาป่วยไม่เกินสามวัน) จำนวน 127,059 คน และการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยซึ่งทำให้ต้องลาป่วยเกินสามวัน (รวมทั้งการพิการอย่างถาวรและการเสียชีวิต) จำนวน 3,742 ราย

 อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดอุบัติเหตุในภาคแรงงานนอกระบบและภาคเกษตรกรรมซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เชื่อว่าน่าจะสูงกว่านี้  ผู้ที่เจ็บป่วยอันมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับงานอาชีพมักไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์หรือได้รับเงินชดเชย และไม่ค่อยมีแพทย์หรือคลินิกเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้  สตรีต่างด้าวอายุน้อยจำนวนมากที่ทำงานตามชายแดนพม่าได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างจำกัดและต่ำกว่ามาตรฐาน ในโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ มักมีการนำมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่ทางการกำหนดไว้มาใช้ แต่การบังคับใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยยังไม่เข้มงวด  ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการขนาดใหญ่ การให้ความคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยจะต่ำกว่ามาตรฐาน

 บทบัญญัติของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานได้ขยายความคุ้มครองสำหรับพนักงานมีครรภ์ โดยกำหนดมิให้ทำงานกะกลางคืน  ทำงานล่วงเวลา  ทำงานในวันหยุด  ใช้เครื่องจักรที่มีอันตรายหรือทำงานในเรือ  แม้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานห้ามไล่คนงานที่ตั้งครรภ์ออก ไม่ว่าคนงานจะมีสัญชาติใด แต่มีรายงานว่ามีคนงานที่ตั้งครรภ์ถูกไล่ออก โดยนายจ้างอ้างเหตุผลว่าเศรษฐกิจไม่ดี
 
 กระทรวงแรงงานประกาศกฎระเบียบด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานและมีหน้าที่บังคับใช้กฎระเบียบเหล่านี้ แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ ไม่มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ขอย้ายหน้าที่จากสภาพการทำงานที่มีอันตราย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิตสินค้าผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนงานมากที่สุด
 
 การจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในโรงงาน
อุตสาหกรรมมักล่าช้าหรือไม่เพียงพอ มีไม่กี่ครั้งที่ศาลตัดสินลงโทษผู้บริหารหรือเจ้าของสถานที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

  แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานพม่ายังคงเสี่ยงต่อการมีสภาพการทำงานที่เลวร้าย มีรายงานว่าคนงานเหล่านี้มักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาก ต้องทำงานหลายชั่วโมง และ/หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และเนื่องจากคนเหล่านี้มีสถานะที่ผิดกฎหมาย จึงเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและการส่งตัวกลับประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่ถูกหักเงินเดือนอย่างไม่สมควรเพื่อใช้เป็นค่าจดทะเบียน ค่ารักษาพยาบาล ชดเชยวันลาป่วย และการทำงานผิดพลาด

  แรงงานต่างด้าวยังต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติจากนโยบายของสำนักงานประกันสังคมซึ่งปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าวที่พิการแต่จดทะเบียนแล้ว แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีในรอบใหม่และผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จะมีสิทธิเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม (ดูหมวดที่ 2 ง.)

  เมื่อถึงปลายปี คดี 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดรัฐธรรมนูญของกองทุนประกันสังคม และคดีของนางหนุ่ม ไหมแสงยังค้างคาอยู่ที่ศาลฎีกา นางหนุ่มเป็นแรงงานชาวไทยใหญ่ที่จดทะเบียนแล้ว และได้รับอุบัติเหตุจนพิการอย่างถาวรในอุบัติเหตุก่อสร้างในปี พ.ศ. 2549 นางหนุ่มเรียกร้องเงินชดเชยต่อกองทุนเงินทดแทนด้วยตนเองในปี พ.ศ. 2550 ในปี พ.ศ. 2551 นางหนุ่มและแรงงานไทยใหญ่อีกสองรายได้ร่วมกันร้องเรียนให้ยกเลิกนโยบายของสำนักงานประกันสังคมเดียวกันนี้ ศาลปกครองตัดสินในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ว่าศาลฯ ไม่มีอำนาจตัดสินในคดีแรงงาน แรงงานทั้งสามรายจึงเร้องเรียนต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอให้ยกเลิกนโยบายสำนักงานประกันสังคมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 ในเดือนพฤษภาคม ศาลแรงงานกลางได้รับคดีดังกล่าวและตัดสินว่าศาลแรงงานมีอำนาจตัดสินในคดีแรงงาน มีการไต่สวนคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ศาลไม่ได้มีคำตัดสินเนื่องจากคดีแรกที่นางหนุ่มฟ้องร้องยังค้างคาอยู่ที่ศาลฎีกา ในเดือนตุลาคม นางหนุ่มและผู้ร้องเรียนอีกสองรายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอ้างว่าคดีทั้งสองคดีนั้นแยกจากกัน และคดีของผู้ร้องเรียนอีกสองรายนั้นมีสิทธิได้รับคำตัดสินจากศาล

  ในเดือนมิถุนายน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ร้องเรียนต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่ารัฐบาลละเมิดอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 19 ด้วยการไม่ให้แรงงานพม่าเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนหลังประสบอุบัติเหตุในการทำงาน คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศพิจารณาคำร้องเรียนในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะเปิดเผยผลการพิจารณาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553

  ในปี พ.ศ. 2550 แรงงานไทยใหญ่จากพม่าสองรายได้รับอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน แรงงานรายหนึ่งรอดชีวิต และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน ส่วนแรงงานอีกรายหนึ่งคือนายซาย เส่งทุน ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียนเสียชีวิตหลังเกิดอุบัติเหตุสี่วัน สำนักงานประกันสังคมตัดสินว่านายซายไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินชดเชยเพราะไม่ได้จดทะเบียน อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยแก่นายซาย ในเวลาเดียวกัน ครอบครัวของนายซายก็ได้ส่งเรื่องไปยังศาลแรงงานในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 หลังการเจรจาหลายครั้งหลายหน นายจ้างได้ยินยอมที่จะจ่ายเงินจำนวน 250,000 บาทแก่นายซาย แต่เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2552 ครอบครัวของนายซายยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
 
  ในบางจังหวัด ระเบียบข้อบังคับของท้องถิ่นห้ามแรงงานต่างด้าวเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือหรือขี่จักรยานยนต์ ห้ามออกจากสถานที่ทำงานระหว่าง 20.00 – 6.00 น. ห้ามชุมนุมกันมากกว่าห้าคนขึ้นไป และห้ามจัดหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ไม่ค่อยมีการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าว มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงข่มขู่เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนที่พยายามช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว